ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เจาะลึก "โรคกลัวการบิน" แค่ตื่นเต้น หรือ ภาวะทางจิตใจ ?

ไลฟ์สไตล์
3 ก.พ. 68
14:04
3
Logo Thai PBS
เจาะลึก "โรคกลัวการบิน"  แค่ตื่นเต้น หรือ ภาวะทางจิตใจ ?
Aerophobia หรือโรคกลัวการบิน เกิดจากหลายปัจจัยทั้งทางจิตใจหรือสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประสบการณ์เชิงลบเกี่ยวกับการบิน แต่ความกลัวแบบรุนแรงนี้ สามารถรักษาให้หายได้ หากใช้วิธีบำบัดที่เหมาะสมและดูแลโดยนักบำบัด

ทุกครั้งที่เกิดโศกนาฏกรรมทางอากาศ ข่าวมักแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและสะเทือนขวัญคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ เครื่องบินของสายการบิน Lion Air เที่ยวบินที่ 610 ตกลงในทะเลชวาเมื่อปี 2561 คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 189 คน หรือเหตุการณ์ Ethiopian Airlines เที่ยวบินที่ 302 ในปี 2562 ที่ประสบชะตากรรมเดียวกันหลังทะยานขึ้นฟ้าได้เพียง 6 นาที ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 157 คน หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน การชนกันกลางอากาศของเครื่องบิน American Airlines และเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพสหรัฐฯ ใกล้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่ปลุกความกลัวในใจของผู้ที่ต้องโดยสารเครื่องบิน

แม้ว่าจะทราบกันดีว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินต่ำกว่าการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมาก โดยโอกาสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินอยู่ที่ 1 ใน 11 ล้านเที่ยวบิน เทียบกับโอกาสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ 1 ใน 5,000 ครั้ง

แต่สำหรับผู้ที่มีอาการ "Aerophobia หรือ โรคกลัวการบิน" ข้อมูลทางสถิติเหล่านี้อาจไม่ได้ช่วยคลายความหวาดกลัวลงเลยแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน ข่าวอุบัติเหตุแต่ละครั้งกลับเป็นตัวกระตุ้นให้ความกลัวนั้นรุนแรงขึ้น ทำให้พวกเขายิ่งไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน หรือแม้แต่คิดถึงการเดินทางทางอากาศก็รู้สึกตื่นตระหนก

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

โรคกลัวการบิน คืออะไร ?

Aero แปลว่า อากาศ หรือ การบิน ส่วน Phobia คือ ความกลัว กลัวที่เป็นแบบแสดงอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือสถานการณ์เฉพาะ ซึ่งจะเป็นไปอย่างไร้เหตุผล และจะกลัวเฉพาะสิ่งเร้าบางอย่างเท่านั้น เมื่อนำ 2 คำศัพท์นี้มารวมกัน "Aerophobia" จึงแปลว่า "โรคกลัวการบิน"

โรคนี้ไม่ใช่แค่ความกังวลชั่วครู่ก่อนขึ้นเครื่องบิน หรือความหวาดเสียวเวลาผ่านเขตอากาศแปรปรวน แต่มันคือ ภาวะทางจิตใจที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย คนที่มีอาการ Aerophobia มักไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลของตัวเองได้ และอาจแสดงอาการรุนแรงทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรม

อาการของ "โรคกลัวการบิน" อาจประกอบด้วย 

  • อาการทางกาย หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก ตัวสั่น เวียนศีรษะ หายใจติดขัด คลื่นไส้ อาเจียน หรือแม้กระทั่งอาการตื่นตระหนกจนหมดสติ
  • อาการทางอารมณ์ วิตกกังวลอย่างรุนแรง รู้สึกหวาดกลัวจนควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือคิดวนเวียน คิดมากกี่ยวกับอันตรายของการบิน
  • พฤติกรรมหลีกเลี่ยง บางคนอาจตัดสินใจ ไม่ยอมขึ้นเครื่องบินในนาทีสุดท้าย หรือ เลี่ยงการเดินทางทางอากาศไปตลอดชีวิต แม้ว่าจะต้องเสียโอกาสในการเดินทางไปทำงาน หรือไม่ได้พบคนที่รัก

แม้ว่าหลายคนอาจรู้สึกกังวลเวลาเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ Aerophobia เป็นมากกว่านั้น ผู้ป่วยจะมีอาการต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 6 เดือน และอาการต้องรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิต

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อะไรเป็นสาเหตุของโรคกลัวการบิน ?

โรคกลัวการบิน ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยไม่มีที่มา แต่มักเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วย ทำให้พวกเขาพัฒนาความกลัวการบินขึ้นมา โดยปัจจัยเหล่านี้สามารถมาจากทั้งปัจจัยภายในตัวบุคคลเองและปัจจัยแวดล้อมภายนอก ดังนี้

  • บุคลิกภาพและภาวะวิตกกังวลโดยธรรมชาติ

คนที่มีแนวโน้มเป็นโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder – GAD) มักจะมี ความกังวลต่อเรื่องที่อาจเกิดขึ้นแม้โอกาสจะน้อยมาก เช่น "ถ้าเครื่องบินมีปัญหากลางอากาศล่ะ ?" "ถ้ากัปตันเกิดหมดสติล่ะ ?" ความคิดเหล่านี้หมุนเวียนอยู่ตลอดจนกลายเป็นความกลัวที่ฝังแน่น

หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder – OCD) มักจะมีความคิดวนเวียนเกี่ยวกับ ความปลอดภัยในการบิน และอาจแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพื่อป้องกันสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น ตรวจสอบตั๋วเครื่องบินซ้ำ ๆ หรือทำพิธีกรรมก่อนขึ้นเครื่อง 

  • ประสบการณ์เลวร้ายในอดีต

เหตุการณ์ที่น่ากลัวเกี่ยวกับเครื่องบิน สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) และพัฒนาไปสู่โรคกลัวเครื่องบินได้ ตัวอย่างของประสบการณ์ที่อาจเป็นตัวกระตุ้น ได้แก่ 

- เคยโดยสารเที่ยวบินที่เผชิญกับ สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง เช่น เครื่องบินตกหลุมอากาศหนัก ๆ หรือมีเสียงดังผิดปกติระหว่างบิน
- เคยเผชิญกับเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน เช่น การลงจอดฉุกเฉิน ไฟไหม้เครื่องยนต์ หรือระบบควบคุมขัดข้อง
- เคยเห็นผู้โดยสารคนอื่นตื่นตระหนกอย่างรุนแรงระหว่างเที่ยวบิน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยและฝังใจ
- เคยสูญเสียคนใกล้ชิดจาก อุบัติเหตุเครื่องบินตก หรือเคยเห็นข่าวอุบัติเหตุทางอากาศที่กระทบต่อคนรู้จัก ซึ่งส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าเครื่องบินเป็นพาหนะที่อันตราย

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

  • การได้รับอิทธิพลจากผู้อื่น

บางครั้งโรคกลัวการบิน ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง แต่อาจเป็นผลมาจากการได้รับอิทธิพลจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองในวัยเด็ก หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองมีความกลัวการบินและแสดงออกอย่างชัดเจน เช่น ปฏิเสธที่จะขึ้นเครื่องบิน หรือพูดถึงอันตรายของการบินบ่อย ๆ เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้อาจซึมซับความกลัวดังกล่าวและพัฒนาเป็นโรคกลัวการบินในที่สุด บางคนเคยได้รับผลกระทบจากเพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่กลัวการบิน โดยเฉพาะถ้าได้รับฟังเรื่องราวที่น่ากลัวเกี่ยวกับการเดินทางทางอากาศอย่างต่อเนื่อง

  • ผลกระทบจากข่าวสารและภาพยนตร์

แม้ว่าอุบัติเหตุเครื่องบินตกจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้น ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์มักจะถูกนำเสนออย่างกว้างขวางและน่าหวาดกลัว ซึ่งอาจกระตุ้นความกลัวของผู้ที่อ่อนไหวต่อเรื่องนี้ การรายงานข่าวเกี่ยวกับเครื่องบินตก มักมาพร้อมกับภาพเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ เช่น ซากเครื่องบินที่พังยับเยิน รายชื่อผู้เสียชีวิต หรือคำบรรยายเกี่ยวกับวินาทีสุดท้ายก่อนเครื่องตก สิ่งเหล่านี้สามารถฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกและกลายเป็นความกลัวเรื้อรัง

ภาพยนตร์เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางอากาศ เช่น Final Destination, Cast Away, Flight หรือ Sully ก็อาจทำให้คนที่มีแนวโน้มกลัวการบินอยู่แล้วรู้สึกว่าการเดินทางทางอากาศเป็นเรื่องที่อันตรายกว่าความเป็นจริง

"หนี" ไม่ช่วยให้หายกลัว

หลายคนเลือกใช้วิธี "ตัดปัญหาที่ต้นเหตุ" ด้วยการหลีกเลี่ยงการโดยสารเครื่องบินไปเลย แต่ในความเป็นจริง ดร.เกล ซอลท์ซ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวชศาสตร์แห่ง Weill Cornell Medical College ในนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า "การหลีกเลี่ยง" คือปัจจัยที่ทำให้โรคกลัวการบินรุนแรงขึ้นต่างหาก เมื่อคุณเลี่ยงการขึ้นเครื่อง สมองของคุณจะเชื่อว่าเครื่องบินเป็นอันตรายจริง ๆ และ ยิ่งเสริมสร้างความกลัวในจิตใจ

ทุกครั้งที่คุณเลือกเดินทางด้วยวิธีอื่นแทนการบิน สมองของคุณจะจดจำว่าพวกมันรอดพ้นจากอันตราแล้ว และทำให้ความกลัวฝังลึกขึ้นเรื่อย ๆ

ความกลัวของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป บางคนอาจกลัวเครื่องบินตก ในขณะที่บางคนอาจไม่ได้กลัวการบินโดยตรง แต่กลัวการอยู่ในที่ปิดล้อมโดยไม่มีทางออก (Claustrophobia) หรือกลัวความสูง (Acrophobia) บางคนอาจกลัวว่าจะมีอาการเมาเครื่องบินและอาเจียน หรือกลัวการติดเชื้อจากผู้โดยสารคนอื่น ขณะที่บางคนอาจกลัวช่วงเครื่องบินขึ้นหรือลง หรือกลัวสภาพอากาศที่แปรปรวนขณะบิน

ดังนั้น หากต้องการเอาชนะ โรคกลัวการบิน คุณต้องเผชิญหน้ากับมัน ลองฝึกขึ้นเครื่องบินครั้งละเล็กละน้อย หรือฝึกเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน เช่น การนั่งในห้องปิด หรือการฝึกเผชิญกับเสียงเครื่องยนต์ อาจช่วยให้สมองค่อย ๆ ปรับตัวและลดความกลัวลงได้

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

แล้ว "โรคกลัวการบิน" รักษาให้หายได้หรือไม่ ?

อาการกลัวการบินสามารถรักษาได้ และเป็นหนึ่งในภาวะทางจิตใจที่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีที่สุด การบำบัดหลักคือ การเผชิญหน้าและป้องกันปฏิกิริยาตอบสนอง (Exposure and Response Prevention Therapy) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค่อย ๆ เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่กลัว และเรียนรู้วิธีจัดการกับความวิตกกังวลโดยไม่ใช้พฤติกรรมหลีกเลี่ยง

แต่วิธีนี้ต้องทำภายใต้การดูแลของนักบำบัดที่เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยสอนเทคนิคการผ่อนคลายและจัดการกับความกลัว เช่น การทำสมาธิ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นลำดับ และการหายใจลึกแบบมีจังหวะ โดยการหายใจเข้าทางจมูกนับ 1-5 ค้างไว้ 1-2 วินาที จากนั้นหายใจออกช้า ๆ ทางปากนับ 1-7 การฝึกเหล่านี้สามารถช่วยลดความวิตกกังวลและช่วยให้ร่างกายปรับตัวต่อความเครียดจากการบินได้

อีกวิธีที่ช่วยลดความกลัวได้คือการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกลศาสตร์การบิน (Aerodynamics) และสถิติด้านความปลอดภัยของเครื่องบิน คนที่กลัวการบินมักรู้สึกว่าการเดินทางทางอากาศเป็นสิ่งที่ "เป็นไปไม่ได้ หรือ เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ" การทำความเข้าใจว่าทำไมเครื่องบินถึงลอยอยู่บนฟ้าและทำไมมันถึงปลอดภัยกว่าการขับรถบนถนนอาจช่วยให้พวกเขารู้สึกมั่นใจขึ้น

จากเครื่องบินไม่ปลอดภัย เปลี่ยนเป็น เครื่องบินคือพาหนะที่ปลอดภัยที่สุด
จากทุกครั้งที่บินมีโอกาสตก เปลี่ยนเป็น โอกาสตกมีเพียง 0.00001% เท่านั้น

แน่นอนว่าความกลัวบางอย่างไม่สามารถกำจัดได้โดยสิ้นเชิง เพราะทุกสิ่งในชีวิตล้วนมีความเสี่ยงอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม การใช้เหตุผลเชิงสถิติสามารถช่วยให้ผู้ที่กลัวการบินมองเห็นภาพรวมที่เป็นจริงมากขึ้น เช่น โอกาสที่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินต่ำกว่าการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์มาก และต่ำกว่าการถูกฟ้าผ่าหรือถูกรถชนขณะเดินข้ามถนนเสียอีก

เราต้องยอมรับว่าชีวิตมีความเสี่ยงในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่เราก็ยังใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ปล่อยให้ความกลัวมาควบคุม

สำหรับผู้ปกครองที่ต้องอธิบายข่าวเครื่องบินตกให้ลูกฟัง ควรใช้ท่าทีสงบ เพราะน้ำเสียงของพ่อแม่ส่งผลต่ออารมณ์ของเด็กอย่างมาก พยายามหลีกเลี่ยงการให้ลูกเห็นข่าวซ้ำ ๆ บนโซเชียลมีเดีย เพราะเด็กอาจรู้สึกเหมือนว่าเหตุการณ์กำลังเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา สิ่งสำคัญคือต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น อธิบายว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่หายากมาก และมีเที่ยวบินปลอดภัยเกิดขึ้นหลายล้านครั้งทั่วโลกทุกวัน

ระยะเวลาในการบำบัดอาการกลัวการบินจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนสามารถปรับตัวได้ภายใน 8-10 สัปดาห์ของการบำบัด ขณะที่บางคนอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น แต่โดยรวมแล้ว การบำบัดสามารถช่วยให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยไม่ต้องปล่อยให้ความกลัวมาจำกัดอิสรภาพในการเดินทางของพวกเขา 

เพราะอิสรภาพในการเดินทางควรเป็นของทุกคน ไม่ควรถูกจำกัดด้วยความกลัว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อ่านข่าวอื่น :

ไข้หวัดใหญ่ปิดตำนาน "ซานไช่" รักใสใสหัวใจ 4 ดวง วัย 48 ปี 

เช็กปฏิทิน สอบ ก.พ. 2568 ขั้นตอนสอบภาค ก. รอบ Paper & Pencil

ข่าวที่เกี่ยวข้อง