สัญญาณอันตรายพรรคเพื่อไทย หลังผลลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัดทั่วประ เทศ ชัดเจนว่า พื้นที่เป้าหมายที่ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งตัวแทนลงชิง ในนามพรรคเพื่อไทย ตั้งใจกวาด 17 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และบางส่วนที่ซ่อนแอบอยู่ในเครือข่ายภาคกลาง ไม่เข้าเป้า ส่ง 16 จังหวัด ได้เพียง 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ น่าน แพร่ ลำปาง นครพนม นครราชสีมา มหาสารคาม สกลนคร หนองคาย และปราจีนบุรี
ส่วนที่แอบซ่อนไว้กับกลุ่มตระกูลการเมือง-เครือข่ายอีก 6 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี และตราด
การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ได้เก้าอี้ นายก อบจ.มากที่สุด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้อาศัยเงา "บ้านใหญ่" และเครือข่ายมาเป็นตัวเสริม หลายจังหวัด ไม่กล้า เปิดตัวชัดว่าเป็นตัวแทนจาก "ค่ายสีแดง" เสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุกลัวเสียคะแนนเสียง และไมได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่น
หงายไพ่ท้องถิ่น "สนามอบจ." ในมือ "ภูมิใจไทย"
ขณะที่ค่ายสีน้ำเงิน มาเงียบๆ ฟาดเรียบ เหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปิดตัว "ตัวแทน" หรือ "ผู้สมัครนายก อบจ."ในนามพรรค ไม่พบการเคลื่อนไหวของ ครูใหญ่บุรีรัมย์ "เนวิน ชิดชอบ" และ "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ใช้ความนิ่ง สยบความเคลื่อนไหว เดินกลยุทธ์อยู่เบื้องหลัง ให้แต่ละกลุ่มคนท้องถิ่นว่ากันเอง คว้าเก้าอี้ นายก อบจ.ไปถึง 13 จังหวัด คือ พิจิตร ลพบุรี บึงกาฬ บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ อำนาจเจริญ กระบี่ สตูล
โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย เมื่อ นายก นก "อทิตาธร วันไชยธนวงศ์" แชมป์เก่า เอาชนะ "สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช" แดงเชียงราย ได้แบบหายใจรดต้นคอ
แม้อีสานเหนือ "ศุภพานี โพธิ์สุ" ลูกสาวครูแก้ว "ศุภชัย โพธิ์สุ" จะแพ้นายก อบจ.นครพนม แต่ค่ายสีน้ำเงินสามารถเอาคืนที่ "อีสานใต้" จ.ศรีษะเกษ "นายกฯสมเกลี้ยง" วิชิต ไตรสรณกุล คว่ำ "วัฒน์ชัย โหตระไวศยะ" เพื่อไทยสายตรงได้อีกคนหนึ่ง รวมถึงว่าที่นายก อบจ.ที่แอบอยู่ภายใต้เงาบ้านหลังใหญ่อีก 4 จังหวัด คือ สมุทรปราการ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน และพังงา
หากหงายไพ่ในมือ "ภูมิใจไทย" นับตั้งแต่การเลือกตั้งนายก อบจ.ปี 2567 จำนวน 25 จังหวัด และปี 2568 อีก 47 จังหวัด พบ ค่ายสีน้ำเงินกวาด รวม 2 ครั้ง กว่า 40 จังหวัด ส่วนพรรคเพื่อไทย ปี 2567 ได้เพียง 5 จังหวัด ยังไม่นับกลุ่มฝากเลี้ยง ในเงาตระกูลบ้านใหญ่ ซึ่งการเลือกตั้ง นายก อบจ. ปี 2568 รวมครั้งนี้ด้วยได้กว่า 20 จังหวัด ที่เหลือเป็นกลุ่มการเมืองอื่น ๆ
การมีกองกำลังในมือ ไม่ว่าจะเป็นสนามท้องถิ่น นายก อบจ.-ส อบจ. และวุฒิ สภา (สว.) อยู่เคียงข้าง ในทางยุทธศาสตร์กการรบทางการเมือง ไม่เพียงทำให้พรรคภูมิใจไทย มีพลังต่อรองกับพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่หากมองยาวไปจนถึงการเลือกตั้งในปี 2570 ในกรณีที่รัฐบาลอยู่ครบเทอม "ค่ายสีน้ำเงิน" ถือไพ่เหนือกว่าหลายขุม
อย่างไรก็ตาม สำหรับสนามการเมืองท้องถิ่น การที่ “ทักษิณ” ลงไปเล่นเอง ในระดับท้องถิ่น เพื่อหวังจะกวาดคืนพื้นที่สส.ให้พรรคเพื่อไทยในอนาคต เพื่อกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนท้องถิ่นในหลายจังหวัดก็คงเจ็บช้ำไม่น้อยกับการกระทำของพรรคเพื่อไทย
"การเลือกตั้งที่ผ่านมา เราจะสู้กันเองระหว่างคนศรีสะเกษ ครั้งนี้มีนักการเมืองใหญ่ สร้างความแตกแยก...มีการแบ่งสีแบ่งฝ่าย มีการพยายามมาปั่นว่า สีนี้ต้องมาช่วยฝั่งนี้ แต่ผมว่าการเมืองท้องถิ่นทุกคนต้องมาช่วยกันทำงาน” เสียงสะท้อนของวิชิต หรือ นายกฯสมเกลี้ยง ที่ "ทักษิณ" ระบุว่า จะกวาดให้เกลี้ยง เมื่อครั้งลงไปหาเสียงช่วยผู้สมัครพรรคเพื่อไทย
หรือประโยค "...สุดท้ายพี่น้องชาวศรีสะเกษก็เข้าใจเรา แยกแยะถูกระหว่างการเมืองระดับชาติก็คือระดับชาติ ส่วนเรื่องการเมืองท้องถิ่นก็เป็นเรื่องของคนท้องถิ่น …คุณยิ่งใหญ่ขนาดนี้แล้ว คุณก็อยู่ของคุณไปเถอะ ปล่อยให้พวกผมตัวเล็ก ๆ ว่ากันในพื้นที่ไปเถอะ จะขอบคุณมากเลย ถ้าคุณทักษิณคิดแบบนี้"
ชัยชนะ "เพื่อไทย" บนความพ่ายของ "ทักษิณ"
17 ปีที่ "ทักษิณ"จากไปอยู่ต่างแดน บริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปแล้ว กับชัยชนะที่ "ทักษิณ" เดินสายหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ.พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้้มีมนต์ขลังอย่างที่คุย ที่ จ.เชียงใหม่ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ "ส.ว.ก๊อง" เอาชนะ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัคร พรรคประชาชน ได้ก็จริง แต่ผลแพ้-ชนะ ห่างกันเพียงกว่า 20,000 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่า เชียงใหม่ -เชียงราย ไม่ใช่ฐานเมืองหลวงของคนเสื้อแดงอีกต่อไป
และมีบ้านใหญ่และกลุ่มการเมืองที่หันไปเทคะแนนให้ "พันธุ์อาจ" ไม่แน่ว่า หากกลุ่มงดออกเสียง บัตรเสีย และมีการเลือกตั้งล่วงหน้า และหากการจัดเลือกตั้ง ไม่ตรงกับวันเสาร์ มีแนวโน้มว่า คะแนนของผู้สมัคร นายก อบจ.อาจจะเปลี่ยนมือมาเป็นของพรรคประชาชนก็เป็นได้
นอกจากนี้ยังมี กรณี นายก อบจ. "ฝากเลี้ยง" ที่ จ.ปราจีนบุรี หลังจาก โกทร "สุนทร วิลาวัลย์" อดีตนายก อบจ.ปราจีนบุรี เจอข้อหาร่วมกันฆ่า "ชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์" หรือ สจ.โต้ง โดยเจตนา ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตสิ้นอิสรภาพ
และ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ส่ง "สจ.จอย" ณภาภัช อัญชสาณิชมน ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย จนได้เป็นว่าที่นายก อบจ.ปราจีนบุรี
เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตัว "ทักษิณ" ยังมีบารมี แต่ก็ต้องใช้กลไกและเครือข่ายสาขา ไม่เช่นนั้น ก็คงยากที่จะกวาดสส.ได้เพียงพรรคเดียว เจอทั้งน้ำเงิน-ส้ม การใช้กระสุนมาชิงสู้กระแส คงต้องคิดหนัก
ขณะที่ค่ายน้ำเงินเอง นอกจากเบื้องหน้าจะเป็นศัตรูและคุ่แข่งทางการเมืองที่น่ากลัวแล้ว จะเห็นได้ว่า การเล่นบทตบ-จูบ ในแต่ละเรื่อง ทำเอาพรรคเพื่อไทย ยากจะก้าวไปต่อ หากไล่เรียงปัญหาข้อขัดแย้ง ที่ต้องใช้มือของ สว.โหวตสนับสนุนและรับรอง นับแต่เรื่องพ.ร.บ.กัญชา ที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้กัญชากลับไปสู่พืชยาเสพติด หลังจากปลดล็อค มาได้ไม่นาน , การทำร่างพ.ร.บ. ประชามติ,
และพ.ร.บ.กาสิโน หรือเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ แม้กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ "อนุทิน" จะเปิดไฟเขียวให้เข้าสู่การพิจารณาของครม.แล้วก็ตาม แต่ยังต้องผ่านการปรับปรุงเนื้อหา ท่ามกลางเสียงประท้วงจากหลายภาคส่วน รวมทั้ง ปัญหา MOU เกาะกูด ที่เงียบหายไปอย่างเงียบเชียบ
ดังกล่าว คือ พลังอำนาจการต่อรองของพรรคภูมิใจไทย ที่ส่งสัญญาณมากลายๆ ก่อนหน้านี้ รวมทั้งดีลลับ-ดีลลวง ไม่ว่าจะกับซีกฝ่ายอนุรักษ์ หรือซีกฝ่ายความมั่นคง และผลลัพธ์จากปรากฎการณ์เลือกนายก อบจ.จังหวัด อาจชี้ชัดว่า ดีลใช้ "ทักษิณ" ปราบส้ม คงใช้ไม่ได้ผล
และหากมีการเปลี่ยนใจใช้บริการค่ายสีน้ำเงิน ที่สุดแล้วจะส่งผลต่อซุปเปอร์ดีล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"อดีตนายกฯ กลับประเทศไทยเดือน เม.ย.นี้ ต้องทอดยาวออกไปหรือไม่ ล้วนน่าจับตา
อ่านข่าว
เปิดใจ "พล.อ.ท.อนุรักษ์" กริพเพน ฝูงบินขับไล่ เขี้ยวเล็บใหม่ ทัพฟ้า
"เปรี้ยง" โผไม่พลิก โค้งสุดท้ายนายก อบจ. 47 จังหวัด ใคร ? ลอยลำ