ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ป่วยที่ญี่ปุ่นต้องรู้! วิธีเรียกรถพยาบาล รพ.ฉุกเฉิน และร้านขายยา

Logo Thai PBS
ป่วยที่ญี่ปุ่นต้องรู้! วิธีเรียกรถพยาบาล รพ.ฉุกเฉิน และร้านขายยา
หากป่วยขณะอยู่ในญี่ปุ่น ไม่ต้องตื่นตระหนก! ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นมาตรฐานสูง แต่สำหรับ นทท. ควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้ารับการรักษา ตรวจสอบประกันสุขภาพ ค้นหาโรงพยาบาลหรือคลินิกที่เหมาะสมกับอาการ และเตรียมเอกสารที่จำเป็น

หากคุณกำลังอยู่ในญี่ปุ่นและเกิดอาการป่วย ไม่ว่าจะเป็นอาการธรรมดาหรือกรณีฉุกเฉิน สิ่งสำคั คือ ต้องรู้วิธีการเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและทันที โดยระบบการดูแลสุขภาพในญี่ปุ่นมีมาตรฐานสูงและการบริการที่มีประสิทธิภาพ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจไม่คุ้นเคยกับระบบการรักษาในญี่ปุ่น การเตรียมตัวให้พร้อมและรู้ขั้นตอนสามารถช่วยให้คุณได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและปลอดภัย

สิ่งแรกที่ต้องประเมินคือ อาการป่วยของตัวเอง เพราะโรงพยาบาลในญี่ปุ่นจะแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยอาการทั่วไป ไม่รุนแรง และ ผู้ป่วยฉุกเฉิน

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ป่วยธรรมดา (ไม่รุนแรง)

หากคุณมีอาการป่วยทั่วไป เช่น ไข้หวัด ปวดท้อง หรือเจ็บปวดเล็กน้อย คุณสามารถไปหาหมอที่ คลินิก (診療所 - Shinyōsho - ชินโยโชะ) หรือ โรงพยาบาล (病院 - Byōin - เบียวอิน) ที่รองรับการรักษาโรคทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียงได้

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบประกันสุขภาพการเดินทาง
ก่อนอื่นต้องตรวจสอบว่า ประกันสุขภาพการเดินทางที่ซื้อ ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลในญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะค่ารักษาพยาบาลในญี่ปุ่นค่อนข้างสูง หากไม่มีประกันการเดินทาง อาจต้องจ่ายค่ารักษาด้วยตัวเอง ถ้ามีประกัน ควรเตรียม บัตรประกันสุขภาพ หรือ เอกสารจากบริษัทประกัน ให้พร้อมเมื่อไปโรงพยาบาล

ขั้นตอนที่ 2 ค้นหาคลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้เคียง และ จองคิว
โดยการใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของสถานทูตไทยในญี่ปุ่น (Thai Embassy) เว็บไซต์ Japan National Tourism Organization (JNTO) หรือ กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น เพื่อค้นหา คลินิก หรือ โรงพยาบาล ใกล้ที่พักที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือสามารถสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่โรงแรมหรือเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวที่สถานีรถไฟใกล้เคียง

ที่ญี่ปุ่นมีประเภทของสถานพยาบาลอยู่มากมาย ได้แก่

  • สถานพยาบาลขนาดเล็ก  เช่น คลินิก, มีเตียงน้อยกว่า 19 เตียง, เน้นรักษาโรคไม่ร้ายแรง, ทำแผล, อาการโรคเรื้อรัง หรือเป็นสถานที่ที่ระบุประเภทของโรคเฉพาะทาง เช่น โรคภายใน หรือ สูติ-นรีเวชวิทยา
  • สถานพยาบาลขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาล, มีเตียงมากกว่า 20 เตียง, รักษาโรคได้หลายประเภท, มีแผนกสาขาและการผ่าตัดที่จำเพาะกว่าสถานพยาบาลขนาดเล็ก

หากเป็นสถานพยาบาลขนาดเล็ก บางที่ก็สามารถเข้าไปรอรับการรักษาได้โดยไม่ต้องจองล่วงหน้า แต่หากเป็นสถานพยาบาลขนาดกลางหรือใหญ่ ต้องติดต่อล่วงหน้า เพราะหากไม่จองล่วงหน้าไปก่อน ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้เหมือนกัน แต่อาจจะต้องรอคิวค่อนข้างนาน 

ขั้นตอนที่ 3 ไปที่คลินิกหรือโรงพยาบาล
เมื่อไปถึงโรงพยาบาลหรือคลินิกให้ทำการ ลงทะเบียนที่แผนกต้อนรับ (受付 - Uketsuke - อุเคะสึเคะ) แจ้งข้อมูลส่วนตัวและรายละเอียดการประกันสุขภาพ แล้วจะได้บัตรผู้ป่วย (診察カード - Shinsatsu kado - ชินซัทซึ คาโดะ) บางแห่งเจ้าหน้าที่อาจไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ หากไม่มั่นใจ ควรโหลดแอปพลิเคชันแปลภาษา หรือ บัตรคำศัพท์ทางการแพทย์ ไปด้วย

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ขั้นตอนที่ 4 รอพบแพทย์
เมื่อลงทะเบียนแล้ว ก็รอพบแพทย์ และ ในบางกรณีอาจต้องรอเป็นเวลานาน ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนและจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น เมื่อถึงคิว แพทย์จะทำการตรวจอาการ และให้คำแนะนำการรักษา อาจจะมีการ จ่ายยา และให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง

ขั้นตอนที่ 5 รับยาและชำระเงิน
แพทย์ในโรงพยาบาลหรือคลินิกจะทำการ วินิจฉัย และ สั่งจ่ายยา แต่ยาที่แพทย์สั่งจะไม่ได้รับจากโรงพยาบาลโดยตรง นักท่องเที่ยวหรือผู้ป่วยจะต้องไป ซื้อยาที่ร้านขายยา (薬局 - Yakkyoku - ยักเคียวขุ) ซึ่งมีร้านขายยาทั่วไปตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลหรือคลินิกส่วนใหญ่ ถ้าอาการไม่รุนแรงหรือไม่ต้องใช้ยาพิเศษ แพทย์อาจแนะนำให้ไปที่ร้านขายยาทั่วไป เพื่อหายาที่ใช้ได้โดยตรง (ยาที่ไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์) ซึ่งสามารถซื้อได้ในร้านขายยาทั่วไป 

ในญี่ปุ่น ระบบการจัดการยาและการจำหน่ายยาผ่านร้านขายยา เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะช่วยให้การใช้ยามีความปลอดภัย เพราะร้านขายยาจะมีเภสัชกรคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยา และถือเป็นการแยกหน้าที่ระหว่างการให้บริการทางการแพทย์กับการจัดหายา ช่วยให้การรักษามีความเป็นระบบและมีความแม่นยำมากขึ้น

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ป่วยฉุกเฉิน (อาการรุนแรง)

หากคุณมีอาการป่วยฉุกเฉิน เช่น หายใจไม่ออก, เจ็บปวดอย่างรุนแรง, หรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จำเป็นต้องไปที่ โรงพยาบาลฉุกเฉิน หรือ ศูนย์บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 

ขั้นตอนที่ 1 โทร 119 เพื่อขอความช่วยเหลือ
หากอาการรุนแรงเกินกว่าที่คุณจะเดินทางเอง ให้โทร 119 เพื่อเรียก "รถพยาบาล" ซึ่งจะมาถึงเพื่อพาคุณไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ในกรณีที่ไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ พยายามให้ข้อมูลอาการให้ชัดเจนว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน (เช่น หายใจไม่ออก, ช็อก) และพยายามให้เจ้าหน้าที่เข้าใจตำแหน่งที่คุณอยู่ให้เร็วที่สุด

เมื่อโทรไปเบอร์ 119 โอเปอเรเตอร์รับสายจะถามว่า แจ้งเหตุไฟไหม้ หรือ เหตุฉุกเฉิน (火事ですか。救急ですか。- Kaji desu ka? Kyukyu desu ka? - ไคจิ เดสก๊ะ ? คิวคิวเดสก๊ะ) ให้ผู้ป่วยตอบ "救急 - Kyukyu - คิวคิว" 

เนื่องจาก 119 เป็นเบอร์ของแผนกดับเพลิงด้วย โอเปอเรเตอร์จึงถาม 2 กรณี

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ขั้นตอนที่ 2 ไปที่โรงพยาบาลฉุกเฉินเอง
หากคุณสามารถเดินทางเองได้ คุณสามารถไปที่

  • โรงพยาบาลฉุกเฉิน "วันหยุด" (休日救急当番病院 - Kyuujitsu Kyuukyu Touban Byouin - คิวจิตสึ คิวคิว โทบัง เบียวอิน) โรงพยาบาลนี้จะเปิดให้บริการในวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ โดยจะแบ่งเวรกันเปิดรับผู้ป่วยในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งมีการสลับเวรของโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่
  • โรงพยาบาลฉุกเฉิน "กลางคืน" (夜間急病センター - Yakan Kyūbyō Center - ยะคัง คิวเบียว เซนตา) สำหรับเมืองใหญ่จะมีศูนย์บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เปิดเฉพาะกลางคืน ในเมืองเล็กอาจใช้ระบบการเวรสลับตามที่กล่าวข้างต้นในการให้บริการทั้งกลางวันและกลางคืน

ขั้นตอนที่ 3 การลงทะเบียน
เมื่อไปถึงโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการฉุกเฉิน ให้ทำการ ลงทะเบียนที่แผนกต้อนรับ บอกประวัติตัวเองและแจ้งอาการทันทีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งต่อไปยังแพทย์ที่พร้อมให้บริการ หากไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ควรพก บัตรคำศัพท์ทางการแพทย์ หรือ แอปพลิเคชันแปลภาษา เพื่อให้การสื่อสารสะดวกขึ้น

ขั้นตอนที่ 4 การรักษา
เมื่อพบแพทย์แล้ว แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างเร่งด่วนตามอาการ
หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือทำการผ่าตัด แพทย์จะดำเนินการทันที และจะมีการแจ้งค่าใช้จ่ายในการรักษาผ่าน ใบเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยหรือครอบครัวสามารถชำระได้ที่ แผนกการเงิน หลังการรักษา

ขั้นตอนที่ 5 การรับการดูแลหลังการรักษา
หากผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือรับยา ผู้ป่วยหรือครอบครัวสามารถรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเองจากแพทย์ หากต้องการซื้อยาเพิ่มเติม สามารถไปที่ ร้านขายยา หรือ คลินิก เพื่อขอรับยาเพิ่มเติมตามคำแนะนำแพทย์ได้

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

คำศัพท์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับอาการป่วยที่ควรรู้เบื้องต้น

ปวดศีรษะ - 頭が痛い - atama ga itai - อะตะมะ ก๊ะ อิไต
มีไข้ - 熱がある- netsu ga aru - เนะทสึ ก๊ะ อะรุ
วิงเวียน เวียนศีรษะ - めまいがする- memai ga aru - เมะไม ก๊ะ อะรุ
ปวดท้อง - 腹が痛い - onaka ga itai - โอนะกะ ก๊ะ อิไต
ท้องเสีย - 下痢 - geri - เกะริ
ปวดตา เจ็บตา - 眼が痛い - me ga itai - เมะ ก๊ะ อิไต
มองไม่เห็น มองเห็นลำบาก - 見えない, 見えにくい - mi e nai, mi e nikui - มิเอไน, มิเอนิคุ่ย
คันตา - 眼のかゆみ- me ga kayumi - เมะ ก๊ะ คายุมิ
เจ็บคอ - 喉が痛い - nodo ga itai -โนโดะ ก๊ะ อิไต
ไม่มีเสียง - 声が出ない - koe ga denai - โคะเอะ ก๊ะ เดไน
มีเสมหะ - たんが出る - tan ga deru - ทัง ก๊ะ เดรุ
ไอ - せきが出る- seki ga deru - เซะคิ ก๊ะ เดรุ
ปวดหู, เจ็บหู - 耳が痛い - mimi ga itai - มิมิ ก๊ะ อิไต
ไม่ได้ยิน - 聞こえない - kiko e nai - คิโคเอไน
หูอื้อ - 耳鳴り- miminari - มิมินาริ
เจ็บในช่องปาก - 口の中が痛い - kuchi no naka ga itai - คุชิ โนะ นะกะ ก๊ะ อิไต
เจ็บลิ้น - 舌が痛い - shita ga itai - ชิตะ ก๊ะ อิไต
ไม่รู้รสชาติ - 味がわからない - aji ga wakaranai - อะจิ ก๊ะ วาการาไน
ปวดฟัน, เจ็บฟัน - 歯が痛い - ha ga itai - ฮะ ก๊ะ อิไต
ปวดเหงือก, เจ็บเหงือก - 歯茎が痛い - haguki ga itai - ฮะกุคิ ก๊ะ อิไต
หันคอไม่ได้ - 首が回らない - kubi ga mawaranai - คุบิ ก๊ะ มาวาราไน
ปวดคอ - 首が痛い - Kubi ga itai - คุบิ ก๊ะ อิไต
คอบวม - 首が腫れている - kubi ga hareteiru - คุบิ ก๊ะ ฮะเรเตะอิรุ
ปวดเอว - 腰が痛い - koshi ga itai - โคชิ ก๊ะ อิไต
ชาช่วงล่าง - 下肢にしぴれがある - kashi ni shipire ga aru - คาชิ นิ ชิเปริ ก๊ะ อะรุ
เจ็บเข่า - 膝が痛い - hiza ga itai - ฮิซะ ก๊ะ อิไต
งอไม่ได้ - 曲げられない - magerarenai - มาเกะราเรไน
เดินไม่ได้ - 歩けない - arukenai - อะรุเคไน 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ข้อควรรู้ ระบบรักษาพยาบาลในญี่ปุ่น

  • ค่ารักษาพยาบาลในญี่ปุ่นสามารถค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหากไม่ได้มีประกันสุขภาพญี่ปุ่น ควรตรวจสอบว่าประกันสุขภาพการเดินทางของคุณครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลในญี่ปุ่นหรือไม่
  • อุปสรรคด้านภาษา เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางแห่งอาจใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก แม้ว่าในเมืองใหญ่จะมีแพทย์ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่หากอยู่ในพื้นที่ชนบทหรือไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ 
  • การรอคิว โรงพยาบาลในญี่ปุ่นมักจะมีระบบการนัดหมายล่วงหน้า หากไม่มีการนัดหมาย คุณอาจต้องรอคิวเพื่อพบแพทย์
  • ศูนย์บริการฉุกเฉิน สำหรับการรักษาฉุกเฉินในกรณีที่เกิดขึ้นนอกเวลาเปิดทำการ โรงพยาบาลฉุกเฉินวันหยุด และ โรงพยาบาลฉุกเฉินกลางคืน จะเป็นสถานที่ที่คุณสามารถเข้ารับการรักษาได้
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

จะเข้าโรงพยาบาล ยังต้องดู วัน-เวลา อีก ?

การแบ่งเวลารับผู้ป่วยในญี่ปุ่น ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อการจัดการกับปริมาณผู้ป่วยที่มากมาย แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกช่วงเวลา การมี โรงพยาบาลฉุกเฉินวันหยุด และ โรงพยาบาลฉุกเฉินกลางคืน จะช่วยลดภาระการรอคิวในโรงพยาบาลปกติ และช่วยให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินมีความรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในเวลากลางวันหรือกลางคืน

นอกจากนี้ การที่โรงพยาบาลแบ่งการดูแลตามประเภทของอาการและช่วงเวลา ยังเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาแบบทั่วไปหรือการดูแลในกรณีฉุกเฉิน

โดยรวมแล้ว หากคุณเป็นนักท่องเที่ยวที่บังเอิญป่วยในญี่ปุ่น อย่าตื่นตระหนกเพราะญี่ปุ่นมีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ พร้อมบริการรักษาผู้ป่วยที่ครอบคลุมทุกประเภทและทุกเวลา สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกโรงพยาบาลและศูนย์บริการที่เหมาะสมกับอาการของคุณ และเตรียมความพร้อมในเรื่องประกันการเดินทางและการสื่อสารให้ราบรื่น เพื่อลดความยุ่งยากและให้การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

รู้หรือไม่ : ข้อมูลในปี 2563 ถ้าเทียบประชากรญี่ปุ่น 10,000 คน จะมีหมอญี่ปุ่นคอยดูแล 26 คน และแบ่งเวร แบ่งกะ กันอย่างเป็นระบบ ในขณะที่คนไทย 10,000 คน จะมีหมอดูแลเพียงแค่ 9 คน และต้องดูแลตลอด 24 ชั่วโมง 365 วัน 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อ่านข่าวอื่น : 

วิกฤตไข้หวัดใหญ่ญี่ปุ่น! นักท่องเที่ยวเสี่ยงแค่ไหนและควรทำอะไร ?

1 สัปดาห์ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่ง 7.8 พันคน เปิดสถิติปี 67 ติดเชื้อ 6.6 แสน ตาย 51

ไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่นน่าห่วง 144 วัน ติดเชื้อ 9.5 ล้านคน ส่วนใหญ่สายพันธุ์ B

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง