ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ล่าชื่อให้กำลังใจ “พิรงรอง” TRUE ID ฟ้อง กสทช. ศาลตัดสินพรุ่งนี้

สังคม
5 ก.พ. 68
16:29
250
Logo Thai PBS
ล่าชื่อให้กำลังใจ “พิรงรอง” TRUE ID ฟ้อง กสทช. ศาลตัดสินพรุ่งนี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

จากกรณี บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

กรณีการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่า โจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่บริษัทส่งไปออกอากาศ ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย และต่อมาศาลได้สั่งประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2567

ล่าสุด วันที่ 6 ก.พ.2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน มีการนัดฟังคำพิพากษา

คดีดังกล่าวกลุ่มนักวิชาการและผู้บริโภคเห็นว่า เป็นคดีตัวอย่างที่ กสทช. ได้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคถูกฟ้องร้อง สืบเนื่องจากการที่มีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. ในปี 2566 หลังจากพบว่า บนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชันทรูไอดี มีการโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งบริษัททรูดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอปฯ ทรูไอดีได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง

ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ได้พิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว และ สำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์

ให้ตรวจสอบว่า มีการนำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใด หรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใด และให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามหลัก “มัสแครี่” (Must Carry) ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้

แม้หนังสือดังกล่าวไม่ได้ส่งตรงไปยัง บริษัท ทรูดิจิทัลฯ เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่บริษัทได้อ้างว่า การออกหนังสือดังกล่าวทำให้ตนเองเสียหาย จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อการทำหน้าที่ของประธานอนุกรรมการชุดนี้ คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต

ในคำร้องของบริษัท ทรูดิจิทัลฯ อ้างว่า หนังสือดังกล่าวเป็นเหตุ ที่ทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการโทรทัศน์ อาจทำการระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มของตน

ในคำร้องอ้างว่า ทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-The-Top หรือการให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต)

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรองยืนยันว่า การออกหนังสือของสำนักงาน กสทช. เป็นการทำตามหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาในบนแพลตฟอร์มทรูไอดีในการรับชมเนื้อหาตามประกาศมัสต์แครี่ และดูแลลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม

ซึ่งการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. จนนำไปสู่การออกหนังสือดังกล่าวมาจากการร้องเรียนของผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษ

เป็นที่สังเกตได้ว่า หนังสือดังกล่าวที่ออกโดยสำนักงาน กสทช. มิใช่คำสั่งทางปกครอง จึงไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตได้รับหนังสือข้างต้นและจะปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ในประเด็นมัสแครี่ อย่างเคร่งครัดหรือไม่ ก็ยังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย และผู้ได้รับใบอนุญาตมีสิทธิที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อรายการที่อยู่ภายใต้การประกอบการของตน

ก่อนหน้านี้ ในเดือน เม.ย.2567 ศาลมีคำสั่งประทับฟ้องบริษัท ทรูดิจิทัลฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2567 ศาลยกคำร้องดังกล่าว โดยพิจารณาว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง

อย่างไรก็ตาม หาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง ถูกตัดสินว่า มีความผิดและไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัวระหว่างรอการอนุมัติการอุทธรณ์ จะต้องสิ้นสภาพการเป็น กสทช. ทันที

สำหรับผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนคุณสมบัติของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 7 (6) และ (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. ว่า เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือ เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวานนี้ (4 ก.พ) เครือข่ายนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ผู้บริโภคร่วมเรียกร้อง และลงชื่อสนับสนุน พร้อมชวนติดตามการพิพากษาคดี 6 ก.พ. นี้ ล่าสุดทีมงาน #Saveพิรงรอง แจ้งว่า มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 1,203 รายชื่อ

ทั้งนี้ กลุ่ม #saveพิรงรอง ยังเปิดรับรายชื่อผู้สนับสนุน หรือผู้ประสงค์จะร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอต่อไป ผ่านทางลิงก์ https://tally.so/r/3NbP4j

อ่านข่าว : อัปเดต "ไข้หวัดใหญ่" สธ. มั่นใจไทยรับมือได้ เตือนเช็กสุขภาพก่อนบิน

กต.-สมช.แจ้งเมียนมาตั้งแต่เมื่อคืน "ตัดไฟ-สัญญาณเน็ต-งดส่งน้ำมัน"

ผลประโยชน์-ความสัมพันธ์ต่างตอบแทน เหตุเงื้อง่า “ตัดไฟ” แก๊งคอลฯ ยืดเยื้อยาวนาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง