ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ถวายสังฆทาน" อย่างไรพระได้ใช้จริง เสริมสิริมงคล เพิ่มพลังบุญ

สังคม
7 ก.พ. 68
16:13
0
Logo Thai PBS
"ถวายสังฆทาน" อย่างไรพระได้ใช้จริง เสริมสิริมงคล เพิ่มพลังบุญ

ในวันสำคัญทางศาสนาพุทธศาสนิกชนมักจะเข้าวัดทำบุญ รวมถึง "ถวายสังฆทาน" เชื่อกันว่าเพื่อช่วยเสริมสิริมงคลให้ชีวิต ช่วยให้ผู้ถวายรู้สึกอิ่มเอมใจ บางโอกาสยังเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ การถวายสังฆทานจะต้องเตรียมของถวาย กล่าวคำถวาย มีอะไรที่น่ารู้อีกบ้าง มาติดตามกัน 

"สังฆทาน" หมายถึง การถวายทานแก่สงฆ์โดยไม่เจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง การถวายสังฆทานจึงเป็นการให้ที่มีอานิสงส์สูง นั้นเพราะให้ด้วยเจตนาบริสุทธิ และมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่สงฆ์โดยรวม

สังฆะ + ทาน คำว่า "สังฆะ" นิยมใช้ทับศัพท์ว่า สงฆ์ แปลว่า หมู่ชุมนุมในพระวินัย คำว่า สงฆ์ ในคำว่า สังฆทาน หมายถึง องค์รวมของพระภิกษุหรือพระภิกษุณีที่ชุมนุมหรืออาศัยอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง ส่วนคำว่า "ทาน" แปลว่า การให้หรือการถวาย เกิดจากการเสียสละแบ่งสิ่งที่ตนมีให้ผู้อื่น อาจเป็นการให้เพื่อช่วยเหลือหรือบูชาคุณ หรือเพื่อสร้างสมคุณความดีให้เกิดขึ้นแก่ผู้ให้ 

ชาวพุทธกับการ "ถวายสังฆทาน"

อย่างที่บอกไปในช่วงต้น การถวายสังฆทาน เป็นการทำบุญที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมา มีความสำคัญทั้งในแง่ของพระพุทธศาสนา และในแง่วัฒนธรรมประเพณี 

  • สังฆทาน ทานที่ถวายแก่สงฆ์โดยไม่เจาะจงตัวบุคคล ถือว่าเป็นทานที่บริสุทธิ การถวายสังฆทานจะส่งผลให้ผู้ถวายได้รับอานิสงส์มาก มีผลบุญต่อชาติปัจจุบันและชาติหน้า
  • ถวายสังฆทานเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณตามหลักของพุทธศาสนา
  • การถวายสิ่งของจำเป็นให้พระสงฆ์ เช่น อาหาร ยารักษาโรค เครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ช่วยให้พระภิกษุปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสะดวก ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ต่อไป
  • มีความเชื่อว่าการถวายสังฆทานเป็นการเสริมดวงชะตา ให้ชีวิตราบรื่น ปราศจากอุปสรรค โดยเฉพาะในโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด วันขึ้นปีใหม่ หรือช่วงที่ต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้ตนเอง
  • ทำให้เกิดความสงบทางจิตใจ การทำบุญถวายสังฆทานช่วยให้ผู้ถวายรู้สึกอิ่มเอมใจและมีความสุขจากการให้ เป็นการฝึกละความโลภ ความตระหนี่ และสร้างนิสัยการเป็นผู้ให้

ถวายสังฆทานเพราะเป็นวิธีทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก ช่วยส่งเสริมพระพุทธศาสนา สร้างความเป็นสิริมงคล และทำให้จิตใจสงบสุข การทำสังฆทานจึงเป็นหนึ่งใน สิ่งที่ปฎิบัติกันมา

รู้หรือไม่ "สังฆทาน" เป็นสินค้าควบคุมฉลาก

"ชุดสังฆทาน" และชุดไทยธรรม เป็น "สินค้าควบคุมฉลาก" ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่ พ.ศ.2550 ว่าให้ผู้ผลิต ระบุ ขนาด ปริมาณ จำนวน และราคาของสินค้าแต่ละรายการ และราคารวมชุด ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ  

นอกจากนี้ มีคำเตือนบนฉลาก หากมีการนำสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันจนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสชาติ เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค เช่น คำเตือนใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฎิกิริยา จนทำให้สี กลิ่น หรือ รส เปลี่ยนแปลงไป เนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้น ให้ระบุคำเตือนในฉลากด้วย

กรณีผู้จำหน่ายชุดสังฆทานและชุดไทยธรรม ขายสินค้าโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลาก แต่การแสดงฉลากนั้นไม่ถูก ต้องระวางโทษษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเป็นผู้ผลิตชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เลือกสังฆทาน อย่างไรให้ปลอดภัยและได้บุญ

"ชุดสังฆทาน" ปัจจุบันมีทั้ง "แบบจัดเตรียมเอง" และ "แบบสำเร็จรูป" เพื่อให้การถวายสังฆทานเกิด ประโยชน์ต่อพระสงฆ์อย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ ความปลอดภัย คุณภาพ และการใช้งานได้จริงของชุดสังฆทาน เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าหมดอายุ ไร้คุณภาพ หรือไม่มีประโยชน์ในการใช้สอย 

1. สังเกตฉลาก ต้องแสดงข้อความรายละเอียดครบถ้วน ได้แก่ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน ส่วนประกอบที่สำคัญ วิธีการเก็บรักษา วิธีการบริโภค และข้อมูลโภชนาการ เป็นต้น

2. ระมัดระวังไม่นำอาหารและยา ใส่รวมในชุดเดียวกันกับของใช้หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตราย เพราะ สบู่ แชมพู น้ำยาบ้วนปาก ผงซักฟอก ยากันยุง ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ฯลฯ มีกลิ่นและมีสารที่อาจเป็นอันตราย ซึ่งอาจถ่ายเทหรือดูดซึมเข้าไปในผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยา ทำให้เป็นอันตรายต่อภิกษุสงฆ์ได้

3. เลือกอาหารที่มีวันหมดอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน กรณีอาหารกระป๋อง ควรดูลักษณะกระป๋อง ต้องไม่บุบบี้ หรือโป่งพอง หรือมีรอยรั่ว ดูตะเข็บหรือรอยต่อต้องเรียบร้อย แน่นหนา และกระป๋องไม่เป็นสนิม

4. เลือกอาหารที่บรรจุในภาชนะบรรจุที่สะอาด อยู่ในสภาพดี ไม่มีรอยบุบ หรือฉีกขาด

5. ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์  ลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในพระสงฆ์ไทย

ถวายสังฆทาน ที่พระสงฆ์ได้ใช้จริง 

  • ผ้าไตรจีวร เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ ช่วยให้ปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้สะดวก แนะนำให้เลือกเนื้อผ้าที่เหมาะสม เพื่อให้ใช้งานได้จริง

  • ยารักษาโรค ถือเป็นของจำเป็น ส่วนใหญ่จะนิยมเลือกยาสามัญประจำบ้าน ยาชง หรือ ยาชนิดทา
  • อาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สำหรับช่วงที่ไม่ได้ออกบิณฑบาต  
  • มีดโกน สำหรับโกนหนวด หรือปลงผม เนื่องจากพระสงฆ์จะต้องรักษาความสะอาดของร่างกายตัวเอง โดยเฉพาะผมหรือหนวดเครา 
  • เครื่องดื่มหรือชา ไม่ว่าจะเป็นนม ชา น้ำสมุนไพร ช่วยเพิ่มความสดชื่น  
  • หลอดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในเรียนธรรมะหรือการปฏิบัติธรรม
  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ ไม้กวาด สำหรับทำความสะอาดพื้นที่วัด กุฏิ โบสถ์ หรืออาคารภายในบริเวณ
  • หนังสือธรรมะหรืออุปกรณ์การเรียน เช่น ดินสอ สมุด ปากกา กระดาษ เตรียมสำหรับให้พระสงฆ์หรือสามเณรได้ใช้สำหรับเรียนพระปริยัติธรรม
  • รองเท้า พระสงฆ์เดินทางไปกิจนิมนต์ หรืองานพิธีต่าง ๆ รองเท้าจะช่วยให้พระสงฆ์สะดวกขึ้นในการเดินทาง
  • ผ้าขนหนู เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มักคิดไม่ถึง แนะนำให้เลือกสีสุภาพ เช่น ขาว ครีม น้ำตาล

ถวายสังฆทาน นอกจากจะถวายเป็นสิ่งของแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นที่น่าสนใจ และได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะการบริจาคให้กับโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อช่วยเหลือพระภิกษุที่อาพาธ หรือ ตามที่สะดวก เพราะการทำบุญด้วยจิตใจที่บริสุทธิไม่ว่ารูปแบบใด หรือ กับสิ่งใดก็ถือเป็นสิ่งที่เป็นสิริมงคลทั้งสิ้น สร้างความอิ่มเอมใจจากผู้ให้ไปถึงผู้รับทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ตาม การถวายสังฆทานไม่ใช่แค่การทำบุญ แต่ควรเน้นที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่จำเป็นต้องราคาแพง และหลีกเลี่ยงของฟุ่มเฟือย แต่ให้ตรงความจำเป็นและเหมาะสม

ของถวายสังฆทาน กับ ความเชื่อที่แฝงไว้

ผู้ถวายสังฆทานสามารถเลือกซื้อสิ่งของที่จำเป็นต่อพระภิกษุสงฆ์มาจัดเป็นชุดสังฆทานได้เอง แต่สิ่งก็ควรคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยด้วย ให้พระสงฆ์ได้นำไปใช้ได้จริง อย่างไรก็ตามก็ไม่มีข้อกำหนดว่าต้องถวายกี่ชิ้น ผู้ถวายสามารถเลือกตามความพร้อมของตนเอง ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น 

  • ผ้าไตรจีวร ความเชื่อ  การปกป้องคุ้มครองจากสิ่งไม่ดีในชีวิต
  • ยาและเวชภัณฑ์ ความเชื่อ - มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
  • น้ำหรือเครื่องดื่ม ความเชื่อ - ชีวิตราบรื่นและไม่มีอุปสรรค
  • อาหารแห้ง ความเชื่อ - การมีความอุดมสมบูรณ์และไม่ขัดสน
  • หนังสือธรรมะ หรือ อุปกรณ์การศึกษา ความเชื่อ -  เจริญก้าวหน้าในปัญญาและการเรียนรู้
  • เครื่องใช้จำเป็น ความเชื่อ - มีทรัพย์และเงินทองใช้ไม่ขาดมือ
  • เทียนหรือ หลอดไฟ ความเชื่อ : ปัญญาและแสงแห่งธรรม ช่วยให้ชีวิตพ้นจากความมืดมน

ทั้งนี้ ของถวายสังฆทาน สามารถเลือกจัดถวายเองได้ ไม่มีการกำหนดตายตัวว่าควรใช้สิ่งของใดบ้าง ระบุเพียงว่าควรเป็นสิ่งของที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุสงฆ์

คำถวายสังฆทาน - บทสวด 

คำถวายสังฆทาน (แบบอุทิศ)

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)

อิมานิ มะยัง ภันเต, มะตะกะภัตตานิ สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ มะตะกะภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ญาตะกานัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ

คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, มะตะกะภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้, แก่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ, มะตะกะภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์และความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และแก่ญาติทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้น, ตลอดกาลนาน เทอญฯ (ผู้กล่าวคำถวายไม่ต้องกล่าวว่า "สาธุ")

คำถวายสังฆทาน (เพื่อถวายพระราชกุศล)

อิมานิ มะยัง ภันเต, ภัตตานิ สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ

คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้, แก่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ, ภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ของพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน จงทรงพระเกษมสำราญ มีพระสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ตลอดกาลนาน เทอญฯ (ผู้กล่าวคำถวายไม่ต้องกล่าวว่า "สาธุ")

การถวายสังฆทาน ถือเป็นการให้ทานโดยไม่เจาะจงผู้รับ และเป็นการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้คงอยู่ หากทำด้วยจิตศรัทธา และถวายอย่างถูกต้อง ย่อมได้รับผลบุญมากสุด

อ่านข่าว : ระวังสุขภาพใจ! วาเลนไทน์ ความรักอาจนำไปสู่ "โรคหัวใจสลาย"

ทำไมต้องมี ทำไมต้องถือ ? เจาะลึกกฎ Must Have, Must Carry

"เสือโคร่งพุเตย" ตายแล้ว คาดการทำงานหัวใจ-ไตผิดปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง