ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เสียงสะท้อน ภาค ปชช.คดีฟ้อง "พิรงรอง" กระทบ กสทช.ทำหน้าที่เพื่อผู้บริโภค

สังคม
9 ก.พ. 68
18:59
1,013
Logo Thai PBS
เสียงสะท้อน ภาค ปชช.คดีฟ้อง "พิรงรอง" กระทบ กสทช.ทำหน้าที่เพื่อผู้บริโภค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังศาลฯตัดสินจำคุก 2 ปี ศ.กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ในความผิด ม.157 ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายหยิบยกมาแสดงความเห็น โดยเฉพาะในมุมของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่มองว่า กระบวนการยุติธรรม อาจถูกตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่น

จากกรณีที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก 2 ปี ศ.กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กสทช.ในความผิดมาตรา 157 กรณีออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกบนแพลตฟอร์ม True ID

วันนี้ (9 ก.พ.2568) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. สภาผู้บริโภค สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน นักวิชาการสื่อ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน อุตสาหกรรทีวีดิจิทัล ร่วมเสวนาแสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว

 วงเสวนาความเห็นภาคประชาชนต่อคดี ศ.กิตติคุณพิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ของ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

วงเสวนาความเห็นภาคประชาชนต่อคดี ศ.กิตติคุณพิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ของ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

วงเสวนาความเห็นภาคประชาชนต่อคดี ศ.กิตติคุณพิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ของ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

เจตนาคุ้มครองผู้บริโภคแต่ต้องถูกจำคุก

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า OTT ตามศัพท์เทคนิคมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการมาจากนอกประเทศ เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา แต่กรณีดังกล่าวยังไม่มีระเบียบรองรับให้ กสทช.ดำเนินการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้

ขณะที่ กสทช.ฝั่งหนึ่งพยายามคิดหาวิธีในการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ในระบบราชการยังไม่มีระเบียบ แต่ปัญหาที่ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิและต้องรอระเบียบแล้วจะได้การคุ้มครองอย่างไร

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค

การที่ดำเนินการให้คำแนะนะ ให้คำสื่อสารในเชิงตักเตือนออกไปให้ระมัดระวังในการดำเนินงานว่าจะไม่คุ้มครองหรือละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่กลับถึงขั้นมีความผิดร้ายแรง จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เพราะมีเจตนาที่จะดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นคำถามอยู่ในขณะนี้

กสทช.มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำงานภายใต้บริบทอิสระ ไม่ถูกแรงกดดันจากทางใดทางหนึ่ง ดังนั้นคนที่ทำงานอยู่ในลักษณะเขาควาย การทำงานภายใต้ความอิสระมีความจำเป็นมาก แต่ต้องอยู่ภายใต้การยึดโยงการตรวจสอบของตัวแทนภาคประชาชนด้วย แต่พบว่าการทำงานที่ถอดจากคำแถลงอ้างว่าเนื้อหาส่วนใหญ่มาจากคนในสำนักงาน กสทช.เป็นผู้ให้ข้อมูลต่อศาล จากพยานฝ่ายโจทก์ เพราะฉะนั้นถ้าคนในสำนักงานไม่สนับสนุนการทำงานของ กสทช.เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพไปต่อไม่ได้

อ่านข่าว : ครป.ออกแถลงการณ์ กรณีศาลฯ ตัดสินจำคุก "พิรงรอง รามสูต"

รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

ตั้งข้อสังเกต กสทช.ประวิงเวลาออกระเบียบกำกับ OTT

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) สะท้อนว่ากสทช.มีอำนาจในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์และการกระจายเสียง ส่วนประเด็นการไม่มีอำนาจกำกับ OTT อาจจะไม่ถูกต้อง แต่เนื่องจากว่า กสทช. และสำนักงาน กสทช. อาจจะยังไม่มีระเบียบ หรือกำหนดกติกาการควบคุม ซึ่งประเด็นปัญหานี้ มันก็ก่อให้เกิดช่องโหว่

ส่วนกรณีที่มีผู้บริโภคร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ซึ่งหากสำนักงาน กสทช.ไม่ดำเนินการอะไรเป็นการบกพร่องในหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแต่ไม่รีบเร่งในการดำเนินการออกกฎกติกา และประวิงเวลา ซึ่งเรื่องนี้ตั้งคำถามว่าสำนักงาน กสทช.มีความผิดตามมาตรา 157 หรือไม่ อีกทั้งคดีนี้เป็นเรื่อง กสทช. ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว แต่กลับเป็นการผลักเรื่องนี้มาเป็นความผิดของ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง จากคดีนี้ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ

ซึ่งการตั้งเงินเดือนของ กสทช.ที่ต้องมีการตั้งให้สูงกว่าองค์กรอิสระอื่น เพราะเนื่องจากเกี่ยวข้องกับกิจการที่มีมูลค่าเป็นแสนล้าน และเพื่อให้กรรมการเหล่านี้เป็นอิสระไม่ถูกครอบงำโดยทุนสื่อที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งกรรมการเงินเดือนประมาณ 300,000 บาท จากภาษีของประชาชนจากทรัพยากรคลื่นของประชาชน แต่ด้วยสภาพความอ่อนแอภายในสำนักงาน กสทช. ปรากฎออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อเกิดความอ่อนแอจะทำให้ถูกแทรกแซงได้ง่าย

จากกรณีดังกล่าวมองว่าเป็นการสร้างบทละครเพื่อกำจัด ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ออกไป อ้างว่ามีการยื่นข้อเสนอถอนคดีหาก ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ลาออก

เป็นความจงใจที่จะฟ้องคดีกับศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลางเพื่อเป็นการฟ้องปิดปากใช่หรือไม่ เป็นการข่มขู่ให้หวาดกลัว เพราะถ้าหากบริษัทผู้ประกอบการรายนั้นเห็นว่า กสทช.ไม่มีอำนาจเรื่อง OTT ควรจะฟ้องศาลปกครอง

นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

หลักกฎหมายสูงสุด คือ ความเป็นธรรม

นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่สะท้อนการทำหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณพิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ว่า ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคเนื่องจากมีผู้บริโภคร้องเรียน แต่กลับถูกดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

นายสมชาย ย้ำว่า หลักกฎหมายสูงสุด คือ ความเป็นธรรม ดังนั้น การทำหน้าที่ ของ อ.พิรงรอง ในฐานะเป็น กสทช. ถือเป็นการทำเพื่อพิทักษ์สิทธิ์ของประชาชน และมองว่า กระบวนการยุติธรรม หลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างน่าเป็นห่วง ไม่ทำให้ ประชาชนเกิดความไว้วางใจ

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อุปนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อุปนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อุปนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล

จี้ กสทช.ชัดเจนแผนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อุปนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล สะท้อนว่า ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ในปัจจุบันว่า แม้จะมีคนดูลดลงจากอดีต แต่ยังมีความจำเป็นต้องมีอยู่ ดังนั้น กสทช.ต้องชัดเจนว่า แผนรับมือหลังใบอนุญาตหมดอายุในอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีแผนจัดการอย่างไร

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ยังไม่เห็นแผนของ กสทช.ก็สะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร จึงเสนอว่า รัฐบาลต้องเท่าทันโลกยุค 5G และ AI การแข่งขัน พร้อมเร่งแก้กฎหมายอุตสาหกรรมสื่อ โทรคมนาคม แพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองประชาชน - ผู้ประกอบการ ปิดการแทรกแซง อำนาจเหนือตลาด

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นจาก นายศราวุฒิ ประทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ที่ตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงาน กสทช.กำลังถูกครอบงำ ไม่มีอำนาจอิสระที่แท้จริงหรือไม่

ด้านนายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุว่า การออกหนังสือให้ระมัดระวังไปยังผู้ได้รับใบอนุญาต ออกโดยสำนักงาน กสทช.อีกทั้ง ศ.กิตติคุณพิรงรอง ไม่ได้ออกหนังสือเตือน และไม่ได้ลงนามในหนังสือแต่อย่างใด

กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่แค่เรื่อง ศ.กิตติคุณ พิรงรอง กับบริษัทที่ฟ้องร้อง แต่เป็นเรื่องสาธารณะเป็นเรื่องของทุกคนที่จะลุกออกมาปกป้องสิทธิของตนเองและผลประโยชน์ของประเทศชาติร่วมกัน

ส่วนประเด็นบทบาทหน้าที่การทำงานของ กสทช. ซึ่งอดีต กสทช. คือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันคือองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ กรรมการ กสทช. มีวาระการทำงาน 6 ปี กสทช.ชุดนี้ทำงานมาได้ประมาณครึ่งทาง แต่มีการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างคณะกรรมการ กสทช. ด้วยกัน และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวของกับ กสทช. ถึง 7 คดี พิพากษาไปแล้ว 2 คดี เหลืออีก 5 คดี

และใครจะรับผิดชอบการทำงานของ กสทช.ที่ฟ้องกันไปกันมา จนไม่แน่ใจว่าเป็นปัญหาอุปสรรคในการทำงานที่เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือไม่

สอดคล้องกับผู้ร่วมเสวนาหลายคน ที่ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ว่า มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ใน กสทช. ตำแหน่งผู้อำนวยการ มีอำนาจเข้าร่วมประชุม รวบรวมข้อมูลการประชุม ซึ่งมีนามสกุลเดียวกันกับผู้บริหารของบริษัทค่ายมือถือ ก็ถูกสงสัยว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ 

นอกจากนี้ในเรื่องคุณสมบัติของประธาน กสทช. ซึ่งเห็นว่า ประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติ ตามมติของ คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ไปแล้ว และไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ปรากฎว่าประธานวุฒิสภากลับไม่ได้ดำเนินการ ทำให้เรื่องนี้ยังค้างอยู่และกลายเป็นสูญญากาศ ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงปรากฎแล้ว

ตั้ง 5 ประเด็นคดี "พิรงรอง"

นายเมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการ ครป. สรุปความเห็นและข้อเสนอภาคประชาชน 5 ประเด็น
1.พวกเราในฐานะเครือข่ายภาคประชาชน ขอเป็นกำลังใจให้ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และสิทธิประชาชน ในผลประโยชน์สาธารณะ ที่ กสทช.ควรทำหน้าที่

2.คดีของ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง เป็นคดีที่สะเทือนไปทุกวงการ ภาคประชาชนจึงร่วมกันแสดงพลัง และตั้งคำถามต่อเรื่องนี้โดยตรง โดยจะมีการเคลื่อนไหว ในฐานะเครือข่ายภาคประชาชนจะมีเปิดเวทีของเครือข่ายต่างๆ เพื่อผลักดันและเป็นพลังให้องค์กรอิสระหรือแม้กระทั่งฝ่ายที่ทำหน้าที่ด้านกฎหมาย หรือตุลาการได้ตระหนักถึงปัญหานี้ นักกฎหมายและนักวิชาการต่างๆ จะมีการเปิดเวทีอภิปราย และในภาพรวม จะต้องมีการปฏิรูป กสทช. ทั้งระบบ

3.จากคดีนี้เห็นว่ามีความขัดแย้งกันจริงใน กสทช. ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้อง และทำให้กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นมีข้อครหา โดยภาคประชาชนจะประชุมและเคลื่อนไหวในเรื่องต่อไป

4.เรื่องนี้เป็นเรื่องการฟ้องปิดปากประชาชนใช่หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่มีผลประโยชน์กับอำนาจรัฐบางส่วน ที่พยายามใช้อิทธิพลและอำนาจเข้ามาแทรกแซงองค์กรภาครัฐ เช่น กสทช.

5.ตามที่มีการกล่าวหาใน 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก กสทช.แต่งตั้งบุคคลที่มีนามสกุลเดียวกับผู้บริหารของบริษัท ทรู หรือกลุ่มทุนที่เป็นคู่กรณีในคดีนี้ มาเป็นผู้อำนวยการส่วนของประธาน กสทช. และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการประชุม ดูแลเอกสาร และจัดทำรายงานการประชุมต่างๆ จึงทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานหรือไม่ และ กสทช.จะแก้ไขอย่างไร

อ่านข่าว : เปิด 7 เหตุผล "พิรงรอง" สงวนความเห็นรับทราบควบรวมทรู-ดีแทค 

ด่วน! ศาลฯ สั่งจำคุก 2 ปี "พิรงรอง" ผิด ม.157 คดี True ID ฟ้อง  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง