การประชุมร่วมระหว่างอัยการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อหาแนวทางคดี ก่อนจะนำไปสู่ออกหมายจับ 3 ผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) พ.อ.ชิตตู (Saw Chit Thu) หรือ พ.อ.หม่อง ชิตตู 2.พ.ท. โมเตทุน (Lieutenant Colonel Mote Thone) และ 3.พ.ต.ทิน วิน (Major Tin Win) ไม่ได้เป็นหนึ่งในยุทธการกดดัน “ล้าง” จีนเทา ในเมียนมา
แต่ข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ระบุว่า คดีนี้ คือ คดีพิเศษที่ 304/2565 เป็นคดีค้างเก่าที่ต้องการทำให้ยุติ เนื่องจากมีการประสานงานจากทางการอินเดียให้ช่วยเหลือชาวอินเดีย 7 คนที่ถูกหลอกไปทำงานเป็น โรแมนซ์สแกรม หรือ แก๊งคอลเซนเตอร์ที่บ่อนเฮงเชง จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ต่อมาทางไทยได้ช่วยเหลือกลับมาได้อย่างปลอดภัย จนทั้งหมดได้ถูกส่งตัวกลับประเทศไปแล้ว
สำหรับกลุ่มผู้นำ BGF ที่ถูกดีเอสไอ เตรียมจะออกหมายจับ เบอร์ 1 คือ พ.อ.ชิตตู นอกจากจะเป็นขุนศึกชาวกะเหรี่ยงแล้ว ยัง ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการของกองกำลังรักษาชายแดนกะเหรี่ยง/กะเหรี่ยง (BGF) และ กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่สังกัดกองทัพเมียนมา (Tatmadaw) ด้วยเช่นกัน
โดยเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและอดีตประธานของ Chit Linn Myaing Group (CLM) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ครอบครัวของเขาบริหารร่วมกับ BGF และมีผลประโยชน์มหาศาลอยู่ในเมืองชเวโก๊กโก ( Shwe Kokko) ตั้งแต่ปี 2017 โดยเข้าร่วมกับ “เสอ จื้อเจียง” เจ้าของบริษัท ย่าไท่ (Yatai International Holding Group) เข้าไปพัฒนา Yatai New City
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDjquPOcLcXsYMxY7G0TaJlBy.jpg)
ส่วนมือขวา พ.ท.โมเต ทุน รองเลขาธิการกองกำลังป้องกันชายแดน(BGF) และกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA)) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่สังกัดกองทัพเมียนมา (Tatmadaw) เขามีอำนาจเป็นพิเศษในเขตตอนใต้ของเขตเมียวดีที่ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของ วัน ก๊วก-กอย (14K) และ Dongmei Zone และยังเกี่ยวข้องกับโครงการ KK Park ซึ่งเป็นแหล่งอาชญากรรมข้ามชาติ และการฉ้อโกงทางออนไลน์ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ เช่นกัน
ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า คดีนี้กลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย คือ พ.อ.ชิตตู่ และ พ.ท.โมเต ทุน และ พ.ต.ทิน วิน ได้การใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการกระทำความผิดอาชญากรรมข้ามชาติ และมีคนไทย 2 คน เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ในข้อหาให้ที่พักพิง ขณะนี้ดีเอสไอ ยังไม่ได้ออกหมายจับ แต่ได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากอัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีค้ามนุษย์ 1 ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะดำเนินการต่อไปอย่างไร
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDjquPOcLcXsd2dhl9u8VUsVx.jpg)
โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะกลับไปสอบปากคำคนไทยที่เกี่ยวข้องในคดี และจะกลับมาหารือรายละเอียดกับพนักงานอัยการอีกครั้ง
“คดีนี้ เป็นคดีนอกราชอาณาจักร ดีเอสไอต้องหารือกับพนักงานอัยการตามขั้นตอน ..เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้กดดัน แต่เป็นจังหวะเดียวกับที่มีการกวาดล้างกลุ่มทุนจีนเทา และเป็นคดีค้างเก่าที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอนานเกือบ 3 ปีแล้วจึงอยากทำให้เสร็จ” รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุ
มีข้อมูลระบุว่า สำหรับคนไทย 2 คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องและถูกแจ้งข้อกล่าวหาให้ที่พักพิงนั้น มีสถานะเป็นกรรมการบริษัทและพนักงานบริษัท อยู่ในบริษัทแห่งหนึ่ง
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDjquPOcLcXscMZnX1Zh0h0OA.jpg)
สำหรับชาวอินเดียที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์นั้น พบว่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2566 พบ มีชาวอินเดียถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอนเซนเตอร์ในกัมพูชากว่า 5,000 คน ในช่วงครึ่งปีแรกสามารถหลอกลวงเงินไปได้ถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท
ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือออกมา ระบุว่า ถูกหลอกลวงว่าจะให้ไปทำงานกรอกข้อมูล แต่กลับถูกจับไปทำงานแก๊งคอลเซนเตอร์ คนเหล่านี้จะถูกสั่งให้สร้างโปรไฟล์ใน social media เพื่อไปหลอกคนอินเดียอีกทอดหนึ่ง โดยมีการวางพล็อตบทพูดต่าง ๆ จะมีลักษณะคล้ายที่คนไทยพบเช่น มีพัสดุผิดกฎหมายในชื่อของเหยื่อ หรือเป็นตำรวจโทรหา หากใครทำยอดไม่ถึงเป้าก็จะถูกทำร้ายร่างกาย
รัฐบาลอินเดียแถลงถึงความสำเร็จในการช่วยเหลือชาวอินเดียที่ถูกหลอกให้ไปทำงานแก๊งคอลเซนเตอร์ในกัมพูชา โดยรวมแล้วสามารถช่วยเหลือได้ 250 คน แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ และเหยื่อที่ได้รับการช่วยเหลือให้ข้อมูลว่า ผู้บงการอยู่เบื้องหลังเป็นชาวจีน และมีผู้ช่วยชาวมาเลเซียคอยแปลคำสั่งให้
ต่อมา ยังพบว่ามีชาวอินเดีย จำนวนไม่น้อย ได้ถูกหลอกให้เข้ามาทำงาน ในจ.เมียวดี ในพื้นที่ที่ พ.อ.หม่อง ชิตตู ดูแล โดยถูกบังคับให้เป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ และโรแมนซ์สแกม ตั้งแต่ปี 2565-ปัจจุบัน จนรัฐบาลอินเดียต้องประกาศเตือนประชาชนของตนเองให้ระวังการถูกหลอกลวง
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDjquPOcLcXsZlHgyN67ZgOdf.jpg)
สำหรับการออกหมายจับ พ.อ.หม่อง ชิตตู นั้น แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรเสีย ผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน คงไม่เพลี่ยงพล้ำ เดินเข้ามาให้จับกุมแน่นอน แต่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า รายงานการสืบสวนสอบสวน พบว่า พ.อ.หม่อง ชิตตู มีพฤติกรรมมักเดินทางเข้า-ออก ระหว่างไทยและเมียนมา เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลอาการป่วยจากโรคประจำตัว
“การที่ถูกออกหมายจับจะทำให้บุคคลไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ อีกทั้งหมายจับจะมีผลให้เกิดการปัดกวาด ไม่ให้มีการสนับสนุนเรื่องแก๊งคอลเซนเตอร์อีกต่อไป ซึ่งเราหวังผลส่วนนี้ และหาก พ.อ.หม่อง ชิตตู เดินทางมาที่ประเทศไทยเมื่อใดก็จะถูกจับกุมตามหมายจับทันที” อธิบดีดีเอสไอ กล่าว
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การออกหมายจับหม่อง ชิตตู เป็นเรื่องเก่า และมีการพาดพิงถึง หม่องชิตตู ในประเด็นเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และไม่ได้ออกหมายจับแค่คนเดียว แต่มีชาวต่างชาติคนอื่นด้วย
"คดีนี้จะขยายไปยังคดีฟอกเงินด้วย ...เชื่อว่าการนำตัวหม่อง ชิตตู มาดำเนินคดีไม่ใช่เรื่องยาก ขึ้นอยู่กับผู้นำของทางเมียนมา เพราะรัฐบาลไทยมีความจริงใจอยู่แล้ว พร้อมย้ำว่าขณะนี้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์"
แม้การค้ามนุษย์ คอลเซนเตอร์ และฉ้อโกงออนไลน์ โรแมนซ์สแกม จะเป็นปัญหาความมั่นคงของทั่วโลก แต่ที่ชายแดนไทย-เมียนมา ถือว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงยิ่งกว่า และหากยังลูบหน้า-ปะจมูก คงยากจะแก้ไขปัญหา
อ่านข่าว : สะเทือน "ล้างจีนเทา" เมียวดี งานหินกว่า "เล้าก์ก่าย" โมเดล
"มั่นคง" ส่องชายแดนไทย-เมียนมา หลังตัดไฟ-อินเทอร์เน็ต เมียวดี