วันที่ 13 ก.พ.2568 นางสุปรียา บุญสนิท ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตราด พร้อมด้วย นายปฏิยุทธ์ บูรพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ตราด นายอภิภัทร ลาภอุดม หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานตราด ร.ท.พินิจ กิจเพียร ผบ.ร้อย ทพ.นย (ฐาน 516 บ้านเขาพลู) เจ้าหน้าที่ ตชด.116 ปลัดอำเภอบ่อไร่ นายก อบต.ด่านชุมพล ตรวจสอบ กรณีการบุกรุกที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง จังหวัดตราด ตามที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์
จากการตรวจสอบพบว่า อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง มีความจุอ่าง 36.800 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทาน 39,000 ไร่ ครอบคลุม 15 หมู่บ้าน 5 ตำบล 2 อำเภอ อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานตราด ได้ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ.2542

จุดที่ 1 จากการตรวจสอบเป็นพื้นที่ที่กรมชลประทาน ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านทับมะกอก ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด พบการบุกรุกพื้นที่ประมาณ 130 ไร่ มีสิ่งปลูกสร้างอาคารแบบถาวร 2 หลัง มีการปรับพื้นที่ปลูกต้นทุเรียน อายุประมาณ 6 เดือน และมีการถมดินเพื่อเป็นทางเชื่อมไปในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งปรับเป็นพื้นที่ปลูกต้นทุเรียนเช่นเดียวกัน โดยไม่พบตัวผู้บุกรุก
จุดที่ 2 จากการตรวจสอบเป็นพื้นที่ที่กรมชลประทาน ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านทับมะกอก ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด พบการบุกรุกพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ พบเสาหลักปักขอบเขต แสดงพื้นที่ของกรมชลประทานอย่างชัดเจน และตรวจพบว่า มีสิ่งปลูกสร้างอาคารชั่วคราว 2 หลัง และพื้นที่บุกรุกปลูกต้นทุเรียน ต้นมะละกอ ต้นกล้วยเต็มพื้นที่ โดยไม่พบตัวผู้บุกรุก

จุดที่ 3 จากการตรวจสอบเป็นพื้นที่ที่กรมชลประทาน ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านเขาพลู ต.ท่ากุ่ม อ.เมืองตราด จ.ตราด พื้นที่ประมาณ 30 ไร่ พบมีการปลูกต้นทุเรียน และสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2566 เพื่ออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย โดยกรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

ศูนย์ป่าไม้ตราด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ จะเก็บรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้บุกรุกทั้งจุดที่ 1 และจุดที่ 2 เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ตามมาตรา 25 ในการนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตราด กำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันเฝ้าระวังและปฏิบัติราชการตามหน้าที่และอำนาจให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ขณะที่กรมชลประทาน เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว
- จุดที่ 1 อยู่ทางทิศใต้ของอ่างเก็บน้ำ พบการปรับพื้นที่เพื่อปลูกต้นทุเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของชลประทาน
- จุดที่ 2 อยู่ทางทิศตะวันตกของอ่างเก็บน้ำ ในเขตพื้นที่ชลประทาน พบการปลูกทุเรียนและมะละกอ บนพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ พร้อมทั้งมีสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว 2 หลัง ซึ่งไม่พบตัวผู้บุกรุกในพื้นที่ดังกล่าว

- จุดที่ 3 อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอ่างเก็บน้ำ พบการบุกรุกพื้นที่กว้าง โดยมีการปรับพื้นที่ป่าให้กลายเป็นสวนทุเรียน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 130 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างถาวร 2 หลัง แต่ไม่พบตัวผู้บุกรุก
เจ้าหน้าที่ได้บันทึกพิกัดและถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน และก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2549 จำนวน 16 คดี และในปี พ.ศ.2566 จำนวน 5 คดี
อ่านข่าว : "แพทองธาร" เรียกถกฝ่ายความมั่นคง ปมเมียนมา