ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 5 นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11-14 ก.พ.2568 เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้ทำการสำรวจ ติดตาม และประเมินสถานภาพโลมาและสัตว์ทะเลหายาก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ โดยทำการสำรวจทางเรือด้วยวิธี line intersect และใช้วิธีถ่ายภาพทางอากาศ (อากาศยานไร้คนขับ) เพื่อนับจำนวนประชากรของสัตว์ทะเลหายาก

จากการสำรวจพบสัตว์ทะเลหายาก 2 ชนิด ได้แก่ โลมาหลังโหนก (Sousa chinensis) และวาฬบรูด้า (Balaenoptera edeni) ดังนี้
1. พบโลมาหลังโหนก (Sousa chinensis) จำนวน 3 ตัว บริเวณอ่าวทองหลาง เกาะวัวตาหลับ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง โดยโลมาที่พบมีพฤติกรรมหาอาหาร และดูแลลูก ไม่มีร่องรอยบาดแผลจากเครื่องมือประมง มีการโผล่ขึ้นมาหายใจปกติ เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้เฝ้าสังเกตการณ์เป็นระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งโลมาได้ว่ายน้ำห่างออกไป
2. พบวาฬบรูด้า (Balaenoptera edeni) จำนวนไม่ต่ำกว่า 7 ตัว บริเวณเกาะแปยัด-เกาะรอก-เกาะง่าม และบริเวณเกาะท้ายเพลา-เกาะนายพุด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง โดยวาฬบรูด้าที่พบมีพฤติกรรมรวมฝูงล่าเหยื่อโดยการไล่ต้อนฝูงปลาและมีการปล่อยฟองอากาศออกมาเพื่อต้อนให้ฝูงปลารวมกลุ่มกัน เรียกว่า Bubble-net feeding และมีการอ้าปากตะแคงด้านข้างเพื่อกินอาหาร
และยังมีพฤติกรรมการล่าเหยื่อโดยเทคนิคการว่ายต้อนปลาใกล้ผิวน้ำแล้วใช้หางตีน้ำ เรียกว่า Tail-slapping หรือ Lobtailing และมีการอ้าปากตะแคงด้านข้างเพื่อกินอาหาร นอกจากนี้วาฬบรูด้าที่พบยังมีพฤติกรรมแยกกันเป็นคู่ ๆ 2 ตัว ในการหากิน แต่ยังอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน และมี 1 ตัว ที่หากินอยู่โดดเดี่ยว


3. ส่วนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ จากการสำรวจไม่พบเจอโลมาและสัตว์ทะเลหายากอื่น ๆ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ได้มีการเก็บรวบรวมภาพถ่ายของสัตว์ทะเลหายากไว้เพื่อวิเคราะห์อัตลักษณ์เพื่อระบุรายชื่อและจำนวนประชากร (Photo ID) ต่อไป
ปัจจัยคุณภาพน้ำทะเลจุดที่สำรวจพบสัตว์ทะเลหายาก เบื้องต้นตรวจวัดได้เฉลี่ย ดังนี้
- ความลึกน้ำอยู่ในช่วง 6-18 เมตร
- อุณหภูมิน้ำทะเล 27.97 องศาเซลเซียล
- ค่า pH (กรด-เบส) มีค่า 8.07
- ความเค็ม 31.35 ppt
- ความโปร่งใสน้ำทะเลอยู่ในช่วง 2-5 เมตร
- ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) มีค่า 5.56 mg/L
ระยะห่างจากหมู่เกาะอ่างทองบริเวณที่พบโลมาและวาฬนั้น ห่างจากหมู่เกาะประมาณ 100 เมตร - 1.5 กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่งประมาณ 33 – 44 กิโลเมตร

นอกจากนี้จากสังเกตพบน้ำทะเลบางพื้นที่มีลักษณะเป็นทางสีเขียว โดยคาดว่ามีการไหลของน้ำจืดจากบริเวณปากแม่น้ำลงสู่ทะเลทำให้มีปริมาณธาตุอาหารเยอะ ทำให้แพลงก์ตอนมีปริมาณมาก ซึ่งเป็นอาหารของกลุ่มปลาเล็กปลาน้อย จึงเป็นที่มาของการพบวาฬบรูด้าที่ตามเข้ามากินกลุ่มปลาเหล่านี้
อ่านข่าว : "รางจืด" สมุนไพรฤทธิ์เย็น ใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์ - ข้อควรระวัง