ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกาหลีใต้ "เร่งเจริญ" สังคมกดดัน "ฆ่าตัวตาย" ติดอันดับโลก

ต่างประเทศ
17 ก.พ. 68
17:23
747
Logo Thai PBS
เกาหลีใต้ "เร่งเจริญ" สังคมกดดัน "ฆ่าตัวตาย" ติดอันดับโลก
อ่านให้ฟัง
12:24อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ เราจะมักจะได้ยินข่าวการเสียชีวิตของนักแสดง และ ศิลปิน K-Pop บ่อยครั้ง และหลายครั้งมีสาเหตุมาจากความกดดันในการทำงานและการใช้ชีวิต

อ่านข่าว: แรงกดดัน "Parasite" ที่เกาะติดสังคมเกาหลี

"เกาหลีใต้" เป็นประเทศที่มี "อัตราการฆ่าตัวตาย" สูงที่สุดประเทศหนึ่ง จากสถิติของ Statista พบว่า ในปี 2024 มีอัตราเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8 จากปี 2023 ทำสถิติมากที่สุดในรอบ 9 ปี และยังเป็นสถิติการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD ที่จำนวน 1,190 คน ในปี 2024 คิดเป็นอัตรา 24.1 คนต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD ที่ระดับ 10.7 คน

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลีใต้ (Ministry of Health and Welfare) เปิดเผยข้อมูลว่า ชาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 6,375 ราย ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2024 เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10.1 จากปีก่อน (2023)

สาเหตุหลักเกิดจาก "เงื่อนไขเชิงโครงสร้าง (Structural Condition)" ส่งผลต่ออัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด แน่นอนว่าเป็น "การพัฒนาประเทศ (Country Develoment)" เยี่ยงตะวันตกที่มีความ "เร่งรัด" มากจนเกินไปในช่วงที่ดินแดนพยัคฆ์คำรนแห่งนี้กำลัง "พลิกฟื้นสู่ความเจริญ"

ที่มา: AFP

ที่มา: AFP

ที่มา: AFP

"เร่งเจริญ"​ สังคม "กดดัน" ไปไม่ถึงฝัน "ฆ่าตัวตาย"

เกาหลีใต้พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดด พลิกชะตาจากประเทศผู้บอบช้ำจากสงคราม สู่ผู้เจริญมากด้วยปัญญาและความมั่งคั่ง สมฉายา "มหัศจรรย์แห่งแม่น้ำฮัน (The Miracle of Han River)" แต่โลกความเป็นจริง มีได้ต้องมีเสีย แม้ความเจริญจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่สิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม คือ "ความกดดัน (Stress)" ของสังคม ที่จะต้องทำตนให้สอดรับกับความเจริญนั้น ๆ ย่อมมีมากตามไปด้วย

ชาง คย็อง-ซ็อบ (Chang Kyung Sup) เสนอไว้ใน หนังสือ The Logic of Compressed Modernity ความว่า เกาหลีใต้มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการพัฒนาประเทศ "เยี่ยงตะวันตก" ทุกสิ่งทุกอย่างต้องกระทำการอย่าง "เร่งรัด" เนื่องจาก เกาหลีใต้เริ่มพัฒนามาช้ากว่าตะวันตก รวมไปถึงญี่ปุ่น จึงต้องเร่งเครื่องเพื่อให้ตามทัน และกระทำการในทุก ๆ ด้านไปพร้อมกัน ไม่มีเลือกพัฒนา ทำอะไรต้องทำให้ดี ทำให้เหมาะสม

ดังนั้น การพัฒนาของเกาหลีใต้ จึงมาพร้อมกับคอนเซ็ปท์ Perfectionism หมายถึง ทำการใดให้สมบูรณ์แบบที่สุด

ผลที่ตามมา คือ "ภาชนะ" บรรจุการพัฒนาที่เรียกว่า "ประชาชน" จึงต้องสมบูรณ์พร้อม ตามให้ทันนโยบายรัฐบาล หากผู้คนในประเทศยังคง "ใช้ชีวิตไปวัน ๆ" ไม่มีการยกระดับตนเอง ทั้งในด้านทักษะ สติปัญญา และการศึกษา การพัฒนาประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้

อ่านข่าว: "โคริยวิถี" ดันทีมฟุตบอลเกาหลีใต้ "ยืนหนึ่ง" เวทีโลก

ที่มา: Seoul National University

ที่มา: Seoul National University

ที่มา: Seoul National University

ด้วยความเร่งรีบนี้ ประชาชนต้องเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เสมือนว่า ถูกบังคับ ไม่เช่นนั้น ประเทศจะ ตกขบวน แม้จะอยากใช้ชีวิตชิลๆ และอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง (Comfort Zone)

หนังสือ South Korea under Compressed Modernity: Familial Political Economy in Transition เขียนโดย ชาง คย็อง-ซ็อบ เสนอว่า การเร่งรีบพัฒนา บีบ "ครัวเรือน" ให้ "ปั้น" บุตรหลานของตน เข้าเรียนที่ดี ๆ มาตรฐานสูง ๆ ด้วยหวังว่าจะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศชาติและครอบครัวได้ สิ่งที่ตามมา คือ "การแข่งขัน" อย่างดุเดือดตั้งแต่อายุยังน้อย

ไม่มีช่องว่างของคำว่า ผิดพลาด เพราะนั่นหมายถึง ชีวิตในอนาคตจะ ดิ่งลงเหว รวมถึงประเทศก็จะตกต่ำตามไปด้วย

ในประเทศไทย หากสอบไม่ติด มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ยังมีตัวเลือก 2 3 4 5 จบออกมา เข้าทำงาน สร้างชีวิตที่ดีได้ แต่ไม่ใช่กับแดนโสม หากไม่สามารถเข้าเรียนที่ "Seoul National University" มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศได้ เท่ากับว่าชีวิตมาถึงทางตัน และหากต่อสู้อยู่หลายปี ยังเข้าเรียนที่นี่ไม่ได้ "ความตาย" อาจเป็นทางออกของทุกสิ่ง ดังนั้น อย่าได้แปลกใจ หากอัตราการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้ จะอยู่ในระดับสูง

ที่มา: The Logic of Compressed Modernity

ที่มา: The Logic of Compressed Modernity

ที่มา: The Logic of Compressed Modernity

ในวงการบันเทิง ก็เช่นเดียวกัน การต่อสู้ ฝ่าฟัน ให้ยืนเด่นบนพรมแดง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การมีชื่อเสียง เป็น "ดาวค้างฟ้า" เป็นสิ่งที่ยากมาก ดังนั้น ความกดดันไม่ได้มีเพียงการ "ไปให้ถึง" จุดหมาย แต่ยังมีความกดดันจากการ "รักษาสถานะ" ของตนเองด้วย

อาชีพนักแสดง หากไม่มีงานจ้างนานวันเข้า ไม่ต่างอะไรจาก คนไร้บ้าน ดังนั้น การแข่งขันในสังคมเกาหลี จึง เอาเป็นเอาตาย และ ไม่มีวันจบสิ้น เว้นแต่จบชีวิตด้วยตนเอง

นอกเหนือจากบรรดาวัยรุ่นแล้ว "คนแก่" ถือได้ว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายเยอะไม่แพ้กัน การพัฒนาแบบเร่งรัด มีส่วนทำให้ประเทศเจริญ แต่เมื่อ "หมดสภาพ" เท่ากับว่า อดีตเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหล่านี้ ไม่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอีกต่อไป

อ่านข่าว: “เศรษฐกิจสูงวัย” ยังไม่ตอบโจทย์ ตลาดเศรษฐกิจโลก ?

หากยังมีชีวิตอยู่ต่อ รัฐบาลและวัยรุ่นจะต้อง อุ้มชู โดยการ เสียภาษี ระดับมหาศาล ทางออกที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องชี้นิ้วสั่ง คนแก่เหล่านี้พร้อมใจกันฆ่าตัวตาย เพื่อให้ประเทศเดินหน้าพัฒนาต่อได้อย่างไร้อุปสรรค
ที่มา: Seoul National University

ที่มา: Seoul National University

ที่มา: Seoul National University

บทความวิจัย Social stigma of suicide in South Korea: A cultural perspective เขียนโดย ซุนแท อัน (Soontae An) ฮันนาห์ อี (Hannah Lee) จียุน อี (Jiyoon Lee) และ ซึงมี คัง (Seungmi Kang) เสนอว่า สังคมเกาหลีใต้มีความละอายต่อ "ความด่างพร้อย (Stigma)" หากเกิดขึ้นในชีวิตแม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการฆ่าตัวตายได้

โดยมีองค์ประกอบทั้งหมด 5 เงื่อนไข ได้แก่ ความไม่สมบูรณ์แบบ (Incompetence), การสรรเสริญ (Glorification), การผิดจริยธรรม (Immorality), ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (Selfishness), และ การกีดกันทางสังคม (Social Exclusion)

การเร่งเจริญในสังคม เป็นสิ่งที่ใหญ่หลวงต่อชีวิตชาวเกาหลีอย่างมาก โดยเฉพาะ ความรู้สึกที่ไม่สมบูรณ์แบบ อาจเกิดขึ้นได้ แม้แต่ผู้มีการศึกษา หรือมีตำแหน่งในรัฐบาล ก็ตาม หรือ การผิดจริยธรรม ชาวเกาหลีไม่มีวิธีคิดว่าด้วย "จะอยู่อย่างไร" หากถูกจับได้ ย่อมไม่มีที่ยืนในสังคม จำต้องปลิดชีพตนเองในที่สุด

ที่มา: Seoul National University

ที่มา: Seoul National University

ที่มา: Seoul National University

"ไม่นับถือศาสนา" เงื่อนไขลาโลก "ยามไร้ที่พึ่ง"

อีกหนึ่งเงื่อนไขที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายของชาวเกาหลีใต้ คือ ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ "ไม่นับถือศาสนา (Atheism)" จากสถิติของ Statista ระบุว่า กลุ่มผู้ไม่มีศาสนา คิดเป็นอัตราร้อยละ 63.4 ในปี 2023 เหนือกว่า พุทธ (ร้อยละ 16.3) คริสต์นิกายโปรแตสแทน (ร้อยละ 15) และ คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (ร้อยละ 5.1) มากกว่า 5-20 เท่าเลยทีเดียว

บทความวิจัย Religion, Stress, and Suicide Acceptability in South Korea เขียนโดย ช็อง ฮย็อน จ็อง (Jong Hyun Jung) และ ดาเนียล โอลสัน (Daniel V. A. Olson) เสนอว่า การไม่มีศาสนา เป็นเครื่องเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการฆ่าตัวตายมากที่สุดในเกาหลีใต้ เพราะส่วนใหญ่ กลุ่มเหล่านี้มักมีวิธีคิดแบบ "โลกวิสัย (Secular)" มักพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เป็น ทำให้ขาด "ความเชื่อมั่น" ในอนาคต หากเหตุการณ์ในปัจจุบันย่ำแย่จนหาทางออกไม่พบ สิ่งเดียวที่ทำได้ คือ การฆ่าตัวตาย

กลับกัน คริสต์นิการโปรแตสแตน มีผลทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย "น้อยที่สุด" ส่วน คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ส่งผลต่อการฆ่าตัวตายเป็นรองผู้ไม่มีศาสนา แสดงให้เห็นว่า การเชื่อศาสนาแบบ "ยั้งคิด" ส่งผลดีต่อการคิดสั้น ตัดช่องน้อยแต่พอตัว มากกว่า ผู้ไม่มีศาสนา หรือ "เคร่งศาสนา"

ที่มา: Freepik

ที่มา: Freepik

ที่มา: Freepik

เกาหลีใต้ยุคใหม่ "คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า"

ดังจะเห็นได้ว่า การเร่งรัดพัฒนาประเทศของเกาหลีใต้ สร้างข้อได้เปรียบและเสียเปรียบในเวลาเดียวกัน คือ ประเทศพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เข้า OECD ได้สำเร็จในปี 1996 กลายเป็นประเทศมหาอำนาจกลาง (Middle Power) แต่สิ่งที่แลกมา คือ ประชาชนที่ต้องเร่งรัดสติปัญญาและคุณสมบัติให้พร้อมสรรพกับการพัฒนานี้ด้วย ใครแข็งแกร่ง อยู่รอด ใครอ่อนแอ ก็แพ้ไป และหากอ่อนแอมาก ๆ ก็กลายเป็นฆ่าตัวตาย ในที่สุด

ทำให้เกาหลีใต้ยุคปัจจุบันนี้ "คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า" เป็นที่สุด แม้จะมี "ผีน้อย" แรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายจากไทย รวมถึงฟิลิปปิส์ ใฝ่ฝันไปทำงานเพื่อเก็บเงินและส่งกลับมาตุภูมิ แต่กลับ "Gen Y และ Gen Z" เกาหลีใต้ พวกเขาอยาก "ย้ายประเทศ" กันอย่างมาก

โยฮาน สคูนโฮเวน (Johan Cornelis Schoonhoven) เสนอไว้ใน วิทยานิพนธ์ ‘Hell Joseon’: Tales from a South Korean Youth Trapped Between Past and Present ความว่า วัยรุ่นและวัยทำงานเกาหลีใต้ เรียกประเทศตนเองว่า "นรกโชซ็อน (Hell Joseon)" หมายถึง ในยุคสมัยที่พวกเขาต้องทำงานเสียภาษี และเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศ แต่สังคม รวมถึงนโยบายรัฐบาล กลับไม่มีสิ่งใดเอื้ออำนวย หนำซ้ำ ยังรังแต่จะบั่นทอนจิตใจ ทั้งเรื่องการปรับลดสวัสดิการ หรือสภาวะเงินเฟ้อ

ที่มา: NamuWiki

ที่มา: NamuWiki

ที่มา: NamuWiki

สิ่งนี้ เรียกว่า "Double-compress Modernity" หมายถึง เกาหลีใต้ นอกจากจะเร่งรัดจนพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว แล้วก็ยังเพิ่มอัตราเร่ง เพราะต้องการความรวดเร็วที่มากกว่านี้ โดยเฉพาะ "ยุคดิจิทัล" ที่ประเทศไม่ต้องการตกขบวน ทั้งเรื่องการผลิต Semiconductor หรือ AI ส่งผลให้ การเข้าเรียนในสถาบันชั้นนำอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องเป็น "นักเรียนนอก" ทั้งยังไม่อาจเชี่ยวชาญศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งได้ เพราะไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มความรู้หลาย ๆ ศาสตร์ เป็น "พหูสูต" และต้องเป็นเลิศทั้งหมดด้วย

แน่นอน หากใครทำได้ ประเทศจะยกย่องเชิดชู หากใครทำไม่ได้ สังคมก็จะซ้ำเติมอย่างหนัก หากทนไม่ไหว ก็จะนำไปสู่ทางออกเดียวที่เป็นไปได้ คือ ฆ่าตัวตาย

จึงมี Gen Y และ Gen Z จำนวนไม่น้อย เลือกที่จะ ออกนอกประเทศ ไปหาดินแดนที่ความกดดันน้อยและปราศจากการเร่งรัดพัฒนา หนึ่งในจุดหมายปลายทาง คือ ไทย ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้ายอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นสังคมใด ย่อมมีปัญหาที่แก้ไม่ตกด้วยกันทั้งสิ้น อย่าลืมว่า เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ "วินัย (Discipline)" อยู่ในขั้นสูงสุด พวกเขาทำอย่างสุดความสามารถ จึงประเมินได้ทันทีว่า "แพ้หรือชนะ" ในเกมการเร่งรัดพัฒนานี้

พวกเขาไม่ได้ทำแบบ "ขอไปที หรือ อ่อนปวกเปียก" และหาเหตุผลอันชอบธรรมให้กับตัวเองว่า หมดแรงอ่อนล้า หรือ Burnout ในที่สุด

แหล่งอ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง