" Doc Club & Pub จะเปิดให้บริการที่สาขาศาลาแดง ถึงวันที่ 16 มี.ค. 2568 นี้ " ข้อความสั้นๆ ถูกวางต่อด้วยการเชิญชวนผู้คนให้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่ออำลา Micro Cinema หรือ โรงหนังจอเล็กชื่อดัง ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า
เนื่องจากพื้นที่ที่ถูกใช้เป็นทั้งที่ฉายหนัง ฉายสารคดีนอกกระแส เปิดวงสนทนาระหว่างผู้ชมกับผู้ผลิตรายเล็กรายน้อย ทั้งในไทยและต่างประเทศ หมดหนทางที่จะทำธุรกิจในอาคารแห่งเดิมต่อไปได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะพยายามหาทางออกด้วยวิธีใดก็ตาม
โรงหนังขนาด 50 ที่นั่ง ตั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์ที่มีลักษณะเป็นตึกแถวเก่าย่านศาลาแดง กำลังจะต้องปิดตัวเองลง เนื่องจากกฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนเป็นโรงมหรสพ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะหากจะขึ้นทะเบียนเป็นโรงมหรสพไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง หรือ ใหญ่ ต้องถูกกำหนดด้วยขนาดของทางเดินในโรง ขนาดของบันได ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการมหรสพ ที่ถูกครอบด้วยมาตรฐานความปลอดภัยของกฎหมายควบคุมอาคาร ปี 2522
และถูกตั้งคำถามว่า เป็นมาตรฐานที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในตึกแถวเก่าทุกตึกในประเทศไทย จะทำได้เฉพาะในอาคารที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น

ดาวสยามเธียเตอร์ กรุงเทพมหานคร ภาพ : โรงภาพยนตร์ในประเทศไทย
ดาวสยามเธียเตอร์ กรุงเทพมหานคร ภาพ : โรงภาพยนตร์ในประเทศไทย
ข้อเท็จจริงดังกล่าว ...หมายความว่า หากใครคิดจะเปิด Micro Cinema ซึ่งถูกตีความว่าเป็น "โรงมหรสพ" ในประเทศไทย ก็จะต้องไปเปิดในอาคารที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ในระดับ Macro เท่านั้น
และหมายถึง "เสียง" ของคนทำหนังทางเลือกกำลังจะต้องถูกบังคับให้ "เงียบ" จากสังคมไทย เพียงเพราะกฎหมายที่เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2522
ไม่ใช่แค่ "โรงหนังขนาดเล็ก" แต่ตึกแถวทุกแห่ง "ทำอะไรไม่ได้" ตามกม. ควบคุมอาคาร 2522
"กฎหมายควบคุมอาคาร เป็นกฎหมายเก่า เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2522 ตอนที่เรากำลังขยายเมือง แม้จะถูกปรับปรุงมาตลอด แต่เนื้อหาสาระยังเหมือนเดิม คือ แบ่งอาคารเป็น 3 ขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ... และหากเป็นโรงมหรสพ ซึ่งถูกมองด้วยภาพในจินตนาการว่า จะต้องเป็นสถานที่ที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกันเท่านั้น ก็จะกำหนดขนาดบันไดของทางหนีไฟเกือบจะเท่ากันเลย ไม่ว่าจะเป็นโรงมหรสพขนาดไหน"

ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย สถาปนิก Visiting Professor Yale University and Columbia University ให้คำนิยามของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงหนังขนาดเล็กอย่าง Doc Club & Pub โดยชี้ให้เห็นว่า เป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น เพราะเกิดขึ้นจากบริบทการใช้อาคารเมื่อ 45 ปีก่อน ซึ่งตึกแถวถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการค้าขายเฉพาะชั้นล่าง
ส่วนพื้นที่ชั้นบนจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ชั้นบนของตึกแถวจำนวนมาก ถูกปรับไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จึงไม่ใช่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเฉพาะกับโรงหนังขนาดเล็ก แต่เป็นปัญหาของกิจการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบนตึกแถวอีกมากมาย
"คนรุ่นปัจจุบัน ได้รับมรดกจากพ่อแม่เป็นตึกแถว แต่พวกเขาไม่ได้ใช้งานพื้นที่ชั้นบนของตึกแถวเพื่อเป็นเพียงที่อยู่อาศัย ปัญหาคือ พอจะเอามาใช้ประโยชน์อย่างอื่น ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ถูกกฎหมาย จึงไม่ใช่แค่ปัญหาของ Doc Club หรือเฉพาะกิจการโรงหนังขนาดเล็ก แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับอาคารประเภทตึกแถวทั้งประเทศไทย"
ผศ.ดร.รชพร อธิบายสภาพปัญหาดังกล่าวว่า การใช้ประโยชน์ตึกแถวในอดีต จะออก แบบชั้นล่างให้เป็นร้านค้า สำหรับค้าขาย ส่วนชั้นที่ 2 ขึ้นไปจะเป็นบ้านหรือที่พักอาศัย และห้องนอน คือ มีเพียงคนในบ้านเท่านั้น ที่จะเดินขึ้นลง จึงทำบันไดกว้างไม่มาก ประมาณ 90 เซนติเมตร
ส่วนตึกแถวตามเมืองใหญ่ๆ พื้นที่ชั้นบนจะถูกปรับแต่งเป็นร้าน อาหาร โรงเรียนกวดวิชา และมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น หากว่ากันตามกฎหมาย ถือว่า ผิดกฎหมายทั้ง หมด และถ้าจะปรับปรุงอาคารให้ถูกต้อง แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นกฎหมายดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานอาคารในปัจจุบัน

ในฐานะสถาปนิก ผศ.ดร.รชพร มั่นใจว่า สามารถใช้เทคนิคการออกแบบเพื่อทำให้ตึกแถวถูกปรับไปใช้งานในเชิงพาณิชย์และมีความปลอดภัยเหมาะสมกับจำนวนผู้ที่เข้ามาใช้งานในอาคารได้ แต่หากทำตามกรอบภายใต้กฎหมายเดิมที่บังคับใช้อยู่ไม่สามารถทำได้
"ต้องลืมกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไปก่อนเลย ตัวอย่างที่นิวยอร์ค เคยเกิดไฟไหม้ตึกเก่าๆ เขาก็ปรับกฎหมายให้มันสอดคล้องกับการใช้งานจริงมากขึ้น ด้วยการเปิดทางให้ออกแบบบันไดหนีไฟไว้ภายนอกอาคารได้ ทำให้อาคารเหล่านั้นถูกปรับไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น"
หรือในประเทศไทย การนำตึกแถวมาใช้งาน ทำเป็น Hostel หรือ Guest House ถือว่าผิดตามกฎหมายเดิมทั้งหมด เพราะกิจการลักษณะนี้ จำเป็นต้องให้ผู้เข้าพักโดย เฉพาะชาวต่างชาติลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและความปลอดภัย จะต้องจดทะเบียนเป็นโรงแรมทั้งหมด ซึ่งก็ผิดกฎหมายควบคุมอาคารคล้ายกับโรงหนัง เพราะมีคนเข้ามาใช้งานอาคารจำนวนมาก แต่พอเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ในที่สุดก็สามารถทางออกได้

ผศ.ดร.รชพร มองว่า โรงหนังขนาดเล็ก เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเป็นจุดขายสำคัญของไทย ดังนั้นต้องเร่งหาทางออกให้กิจการอย่างโรงหนังขนาดเล็ก หรือกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ให้มีพื้นที่ให้เดินหน้าต่อไปได้ ในรูปแบบอาคารอย่าง "ตึกแถว" ที่มี "กฎหมาย" และคำว่า "อนุญาต" กลายเป็นข้อจำกัด ทำให้คนไทยต้องสูญเสียพื้นที่ความสร้างสรรค์ และการดูหนังในโรงหนังต้องถูกตีวงล้อมไว้ให้ผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีเงินทุนมากเท่านั้น
"ต้องมองภาพใหญ่ร่วมกัน ไทยมีทรัพยากรไม่กี่อย่าง ที่สามารถออกไปสุู่ในเวทีโลก เราขายการท่องเที่ยว ธรรมชาติ และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน สิ่งที่ขาย คือ วัฒนธรรม ความสร้างสรรค์ ความตลก อารมณ์ดี แต่เรากำลังปล่อยให้ข้อจำกัด ในการใช้อาคารมาปิดกั้นการเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรม อย่างโรงหนังขนาดเล็ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคนที่เริ่มทำงานสร้างสรรค์ จึงต้องพยายามหาทางออกจากปัญหานี้ไปให้ได้"
ไม่มี Micro Cinema ไม่มีพื้นที่ "หนังอินดี้" อาจไม่มีคนทำหนัง
"ผมทำหนังเรื่อง The Lost Princess เป็นหนังนอกกระแส และมีกำหนดจะฉายที่ Doc Club & Pub แต่ยังไม่ทันได้ฉาย โรงหนังก็ถูกสั่งปิดไปก่อน"

กมลธร เอกวัฒนกิจ ผู้ควบคุมการผลิตภาพยนตร์ The Lost Princess พูดถึงสถานการณ์ที่ทำให้หนังของเขากลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบทันทีจากการที่ Doc Club ต้องงดให้บริการในส่วนของโรงหนังไป
แม้ในที่สุดแล้ว หนังเรื่อง The Lost Princess จะได้พื้นที่ฉายในโรงหนังขนาดใหญ่ 5 โรง แต่ในฐานะผู้ผลิตหนังอินดี้ กมลธร ยืนยันว่า เขาต้องการให้หนังได้ฉายใน Micro Cinema มากกว่า เพราะเป้าหมายของการทำหนัง คือ การได้มีพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนดูหนังด้วย
เรามีทางเลือกอื่นในการนำหนังไปฉายอยู่บ้าง แต่ Micro Cinema คือ ความพอดีระหว่างตัวหนังกับคนทำหนัง เป็นความพอดีที่ช่วยให้เราได้มีพื้นที่ที่ได้พูดคุยกับคนดูไปด้วย ดังนั้นโรงหนังขนาดเล็กจึงเป็นมากกว่าแค่พื้นที่ฉายหนัง
ความสำคัญของ Micro Cinema ที่คนทำหนังนอกกระแสอย่างกมลธร กล่าว สอดคล้องกับความเห็นของสถาปนิกอย่าง ผศ.ดร.รชพร คือ การมีพื้นที่สำหรับใช้ถ่ายทอดผลงานทางศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อให้คนหน้าใหม่ได้มีโอกาสแสดงฝีมือในสังคมไทย
"หนังเป็นงานศิลปะ และงานศิลปะก็ต้องการพื้นที่ปล่อยของ การมีพื้นที่อย่าง Doc Club หรือโรงหนังขนาดเล็กอื่นๆ เป็นเหมือนพื้นที่ช่วยเพาะเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ทำให้ต้นกล้าพันธุ์ใหม่ๆขึ้นในอุตสาหกรรมหนังได้ ..หนังของผม ก็มีคนอยากเอาไปฉาย แต่พอเกิดเหตุกับ Doc Club ก็ไม่ได้ฉาย ก็เท่ากับคนไม่ได้ดู ถ้าเป็นแบบนี้เรื่อย ๆ คนทำหนังทางเลือกก็จะถอดใจ ขาดตอนและไม่มีคนทำอีก"
"สื่อสร้างสรรค์มีพลังเยอะมาก เช่น คนหนึ่งคน อาจต้องออกเดินทางไปเที่ยวรอบโลกเพื่อจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆในชีวิตเขา แต่ "หนัง" สามารถทำให้คนเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้นได้ โดยไม่ต้องออกเดินทางด้วยตัวเอง สามารถเรียนรู้ระบบคิดของสังคม วัฒนธรรมอื่น ช่วยทำให้คนในชาติพัฒนาต่อไปได้ แม้จะเป็นหนังทางเลือก หนังต้นทุนต่ำ แต่ในหนังกลุ่มนี้ไม่ได้มีแต่ความเป็นศิลปะอย่างเดียว มีความบันเทิง หลายเรื่องที่ดูแล้ว คุณอาจจะบอกว่าสนุกมาก และได้เรียนรู้ไปด้วย"

ในฐานะคนทำหนังทางเลือก กมลธร ยืนยันว่า หนังที่ใช้ต้นทุนในการสร้างไม่สูงนัก เป็นหนังที่มีคุณภาพได้เช่นกัน ดังนั้นการไม่มีพื้นที่ให้ได้ฉายหนังทางเลือก จึงมีค่าไม่ต่างจากการสร้างกรอบมาจำกัดความคิดสร้าง สรรค์ในสังคมไทยให้ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้
"ความเสียหายมหาศาลที่จะเกิดขึ้น คือ ไทยจะไม่มีพื้นที่สำหรับงานสร้างสรรค์ และทุกคนไม่ว่าจะเป็น คนทำงานสร้างสรรค์ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจการอนุญาตหรือไม่อนุญาตอะไรก็ตาม ก็จะทำงานแบบเอาแค่เซฟตัวเอง กลัวผิด ไม่กล้า" กมลธร สะท้อนความในใจ
"Doc Club" ไร้ทางออก ไม่แก้กฎหมาย ปิดช่อง "หนังจอเล็ก"
เมื่อโรงหนังต้องปิดลง ก็มีผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างสูง เพราะไม่มีกิจกรรมที่จะช่วยดึงดูดให้คนเข้ามาที่โซนคาเฟ่ ดังนั้น เราก็จะอยู่ที่ศาลาแดงถึงแค่วันหมดสัญญา และจะปิดตัวในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เพราะอยู่กลางเมือง ค่าเช่าราคาสูง และคงต้องไปหาที่อื่นแทน

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Doc Club & Pub อธิบายสถานการณ์ล่าสุด (8 ก.พ.2568) ว่า ได้พยายามหาทุกช่องทางที่จะทำให้ Doc Club & Pub ยังสามารถเปิดกิจการเป็นโรงหนังขนาดเล็กอยู่ในอาคารแห่งเดิมได้ แต่ก็ไม่มีช่องทางไหนที่เป็นไปได้ ทำให้ต้องมองหาสถานที่อื่นเพื่อเปิดกิจการต่อ แต่ทุกที่ก็ยังติดปัญหาไม่ต่างจากเดิม
"คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องภาพยนตร์ก็พยายามเข้ามาช่วยดูว่า จะใช้ช่องทางไหนได้บ้าง และทุกภาคส่วนที่เข้ามาคุย ก็เห็นตรงกันว่า กฎหมายมันมีปัญหาจริง ๆ แต่ในทางปฏิบัติของทางราชการ ก็จะพบปัญหาว่า คำสั่งที่ออกไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แม้ทุกฝ่ายจะบอกว่า ต้องเดินหน้าแก้ไขกฎหมายทันที แต่ก็ไม่มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้เราเปิดโรงหนังต่อไปได้ในระหว่างการขับเคลื่อนแก้กฎหมาย"
ธิดา กล่าวว่า แม้จะเลือกหนทางที่ดูง่ายสุด คือ การเสนอแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อนิยามใหม่ให้โรงหนังขนาดเล็กไม่ถูกตีความเป็นโรงมหรสพ ยังเป็นหนทางที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งในแง่ธุรกิจคงรอไม่ได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างมองหาที่อื่น ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่น่าสนใจ แต่ก็ยังติดปัญหาเดิมอีก คือ หากเข้าไปอยู่ในตึกแถวอีกก็จะติดข้อกฎหมายเดิม แต่ถ้าไปหาที่ตั้งที่ ซึ่งมีพื้นที่ว่าขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถออกแบบโรงหนังให้มีทางเดินกว้างๆได้ตามกฎหมาย ก็ต้องไปอยู่ในอาคารขนาดใหญ่เท่านั้น

และแน่นอน ค่าเช่าที่ก็จะค่อนข้างสูง ดังนั้นแม้จะมองหาได้อยู่ 3 ที่ แต่ทุกจุด ก็ยังมีข้อติดขัด ดังนั้น ปัญหานี้จึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย Doc Club เพียงลำพังแล้ว
สำหรับ ธิดา การกำเนิดขึ้นของ Micro Cinema แบบ Doc Club & Pub และโรงหนังขนาดเล็กแห่งอื่น ๆ ไม่ใช่แค่พื้นที่ในการประกอบธุรกิจ แต่ถือเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ของคนทั่วไปได้โดยไม่ต้องมีทุนมาก
เชื่อว่า กิจกรรมทางวัฒนธรรม มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ เราคิดกันออกมั้ยว่า โรงหนังในเครือใหญ่ จะเปิดฉายหนังนอกกระแส ที่มีทุนสร้างไม่มากแต่มีเนื้อหาตีแผ่สังคมอย่างแหลมคมอย่าง The Lost Princess ให้อยู่ในโรงได้นาน จนมีกระแสปากต่อปากให้มาดู เมื่อไม่มีเวลาฉาย ไม่มีพื้นที่ฉาย คนทำหนังเหล่านี้ก็จะหายไป
ธิดา บอกว่า ปัจจุบันมีพื้นที่แบบนี้ อยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง บางจุดเป็นร้านกาแฟ เปิดฉายรอบหนึ่งมีคนดู 5 คน ดูเสร็จ ก็มาล้อมวงคุยกัน ซึ่งไม่ได้กำไร แต่เขาทำเพราะใจรัก คนทำหนังได้มีพื้นที่สื่อสารโดยตรงกับคนดู คนดูได้แลกเปลี่ยนอย่างเต็มที่กับผู้ผลิต เป็นกิจการที่ควรถูกมองเห็นและได้รับการสนับสนุนจากรัฐด้วยซ้ำ หากไม่มีพื้นที่แบบนี้อีก จะมีใครกล้าทำอะไรใหม่ๆ ดี ๆ ออกมา เรายืนยันว่า โรงหนังขนาดเล็ก เป็นพื้นที่สำหรับบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นทั้งผู้ผลิตและลูกค้าให้อุตสาหกรรมหนังไทยในอนาคตอย่างแท้จริง
"ถ้ารัฐไม่สนับสนุน ก็อย่าขัดขวางเราได้หรือไม่" ธิดา ประกาศเจตนา รมณ์คนทำกิจการโรงหนังขนาดเล็กอย่างหนักแน่น แม้จะยังไม่เห็นหนทางว่าจะกลับมาเปิดโรงหนังต่อไปได้อย่างไร
รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา
อ่านข่าว