วันนี้ (19 ก.พ.2568) หลังจากที่เป็นกระแสตอบโต้กันไปมาเมื่อวานนี้ ของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร
โดย น.ส.รักชนก ฝากคำถามถึง รมว.แรงงาน 2 ข้อ คือ ความเป็นไปได้ในการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานประกันสังคม และข้อเท็จจริงการยกเลิกการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม
วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาตอบคำถามทั้ง 2 ข้อ โดยประเด็นกรณีการยกเลิกการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม นายพิพัฒน์ ยืนยันว่า ไม่เคยมีการยกเลิกแน่นอน และพยายามสื่อสารไปแล้วหลายครั้งว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่กำลังจะเข้าที่ประชุม ครม. เป็นร่างฉบับที่ทำตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และผ่านการทำประชาพิจารณ์เรียบร้อย ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง จึงมีการระบุให้เพิ่มเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หากเกิดเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถเลือกตั้งได้ ให้คณะกรรมการประกันสังคมมาจากการสรรหาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ซึ่งตนเอง ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าข้อความดังกล่าว เมื่อผ่าน ครม. ขอให้สภาผู้แทนราษฎร นำไปแก้ในชั้นกรรมาธิการ แต่ขอให้การแก้ไขคำนึงถึงสถานการณ์สุดวิสัยที่จะเกิดขึ้นเหมือนช่วงโควิด-19 ด้วย
"พวกเราไม่เคยคิดจะย้อนกลับไป ในเมื่อเรามีการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2566 แล้วเราจะย้อนกลับไปอย่างไร แต่การที่ไม่ได้แก้ใน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ชงเข้า ครม.เพราะจะมีกระบวนการทำประชาพิจารณ์และมีรายละเอียด ซึ่งต้องใช้เวลาเกินกว่า 1 ปี ซึ่งความที่ผมรีบร้อน ผมก็นำฉบับเก่า เผื่อนำเสนอเข้า ครม. ให้ทันกับเหตุการณ์ของผู้ประกันตน "
ส่วนกรณีการเปิดเผยงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานประกันสังคม ยืนยันพร้อมจะเปิดเผย เพราะเป็นเงินของผู้ประกันตน ตนเองต้องรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ประกันตน ซึ่งการไปดูงานแต่ละครั้ง มีการแจ้งถึงวัตถุประสงค์ให้คณะกรรมการประกันสังคมรับทราบ และแต้งประเทศที่จะไปดูงาน หลังจากนั้นก็มีการจัดทำรายงานเมื่อกลับมา
ขณะที่การนั่งเครื่องบินไปดูงาน มีกำหนดตามระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งตั้งแต่ตนเองนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตนเองเคยนั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาส เพียง 1 ครั้ง ครั้งอื่นเป็นชั้น business โดยยืนยันการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามระเบียบ ซึ่งเป็นไปได้ไม่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสอยู่แล้ว และบางครั้งใช้แต้มไมล์ตนเองแลก
"การที่พวกเราไปดูงาน เราต้องบอก และเราจะประสานยังประเทศปลายทางว่า ประกันสังคม หรือ กรมใดกรมหนึ่งของกระทรวงแรงงาน ที่เราออกไปดูงาน วัตถุประสงค์เราคืออะไร ถ้าเราไปแล้ว เรากลับมา เราต้องทำรายงานครับ และโดยเฉพาะบอร์ดเองจะต้องรับทราบว่าประกันสังคมไปต่างประเทศ"
นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ ยังได้พูดถึงการจัดทำปฏิทิน ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงมีการแจกเกษตรกรที่ไม่ใช่ผู้ประกันตน โดยเปิดเผยว่าปฏิทินที่จัดทำขึ้น มีการบอกถึงรายละเอียดสิทธิประโยชน์ประกันสังคม และข้อมูลเกี่ยวกับประกันสังคม ซึ่งเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการจัดทำปฏิทิน เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนรู้จักประกันสังคม ซึ่งเหตุผลต้องแจกเกษตรกร เพื่อเป็นช่องทางให้เข้ามาเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 กลุ่มอาชีพอิสระ ซึ่งกลุ่มนี้ ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนอีกกว่า 10 ล้านคน
และถึงแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้า แต่ตนเอง เชื่อว่ายังมีประชาชนบางกลุ่มยังใช้การสื่อสารแบบโบราณ จึงจำเป็นต้องใช้การสื่อสารผ่านช่องทางนี้
ส่วนกรณีที่มีการนำปฏิทินไปขายในแอปพลิเคชันขายของออนไลน์ มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายสำนักงานประกันสังคมไปตรวจสอบหน่วยงานที่ได้รับแจกปฏิทินไปว่ามีการนำไปจำหน่ายหรือไม่ หากมีพฤติกรรมดังกล่าวจะเอาผิดต่อไป และขอให้ประชาชนที่พบเห็นแจ้งข้อมูลการกระทำผิดได้ ยืนยันปฏิทินที่ทำแจกปีละ 1,000,000 ฉบับ ทำเพื่อการแจกเท่านั้น ไม่ได้ให้จำหน่าย พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการจัดทำปฏิทิน ยื่นประมูลจัดทำปฏิทินในราคาที่ถูกลง
ขณะที่วันนี้สำนักงานประกันสังคม ได้เพิ่มช่องทางการชำระเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยเป็นการให้บริการฟรี ซึ่งนางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังพัฒนาแอปพลิเคชัน SSO plus ที่มีผู้ประกันตนใช้งานปัจจุบัน เกือบ 5 ล้านคน จากผู้ประกันตนประมาณ 25 ล้านคน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบให้สามารถชำระเงินได้ รวมถึงประสิทธิภาพด้านต่างๆ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่า เรตติงที่ได้จากผู้ใช้จะเพิ่มขึ้น มากกว่า 1.5 ตามที่มีการตั้งข้อสังเกต
ส่วนการประมูลจัดทำเว็บแอป ยืนยัน กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบที่ถูกต้อง
อ่านข่าว :
เปิดปฏิทินจ่ายเงินเดือน ข้าราชการ เงินบำนาญ ทหารกองประจำการ ปี 2568