ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

TDRI ชี้ แค่วุฒิป.ตรีไม่พอ ตลาดงานเน้นรับมีประสบการณ์ 1-2 ปี

สังคม
20 ก.พ. 68
15:48
230
Logo Thai PBS
 TDRI ชี้ แค่วุฒิป.ตรีไม่พอ ตลาดงานเน้นรับมีประสบการณ์ 1-2 ปี
ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์โอกาสของเด็กจบใหม่ พบ ตลาดงานส่วนใหญ่เน้นรับคนมีประสบการณ์ 1-2 ปี ผู้ไม่มีประสบการณ์ เปิดรับเพียง 22 % ชี้ระดับการศึกษาไม่สามรถแทนที่ประสบการณ์ทำงานได้ แนะ รัฐ-สถานศึกษา ส่งเสริมการฝึกงานทั้ง ทวิภาคี-สหกิจศึกษา

วันนี้ ( 20 ก.พ.2568) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดผลวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงาน และทักษะของแรงงานที่นายจ้างต้องการ ซึ่งรวบรวมประกาศรับสมัครงานออนไลน์จาก 23 เว็บไซต์รับสมัครงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 (1 ต.ค. – 31 ธ.ค.) และวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

โดยพบประกาศรับสมัครงานทั้งสิ้น 221,339 ตำแหน่งพบว่า ส่วนใหญ่นายจ้างต้องการแรงงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานผู้ ขั้นต่ำ 1 -2 ปีมากที่สุดถึง 84,669 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 38.3% ของประกาศรับสมัครงานทั้งหมด

รองลงมาคือตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไป จำนวน 54,877 ตำแหน่ง คิดเป็น 24.8% ตามด้วยตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ 49,366 ตำแหน่ง คิดเป็น 22.3% และตำแหน่งงานที่ไม่ระบุประสบการณ์ทำงานอีกจำนวน 32,427 ตำแหน่ง หรือ 14.7%

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า แม้จะมีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงานในสัดส่วน 22.3% แต่ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ในประกาศรับสมัครออนไลน์ก็ยังต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงาน โดยมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ทำงานถึง 63.1% สะท้อนว่าตำแหน่งงานส่วนใหญ่ต้องการผู้สมัครที่มีความรู้ ทักษะ และความเข้าใจในการทำงานจริง

ทั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาชีพ คือ กลุ่มที่มีความต้องการประสบการณ์สูง โดยเฉพาะงานด้านการจัดการ ซึ่งมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป มีการประกาศรับสมัครสูงถึง 19,143 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 56.1% และมีสัดส่วนตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงานเพียง 8.7% เท่านั้น

กลุ่มที่ต้องใช้ทักษะและความรู้เฉพาะทาง ได้แก่ งานธุรกิจและการเงิน งานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ งานด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม กลุ่มอาชีพนี้มีสัดส่วนของตำแหน่งที่ต้องการประสบการณ์สูง กล่าวคือ มีสัดส่วนตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี ประมาณ 36-40%

และมีสัดส่วนของตำแหน่งที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปประมาณ 33-35% ส่วนตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์นั้นมีค่อนข้างน้อย (ประมาณ 15-18%) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ไม่สามารถหางานในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้ได้

และ3. กลุ่มที่มีการเปิดรับผู้ไม่มีประสบการณ์ในสัดส่วนที่สูง พบว่าส่วนใหญ่เป็นงานสนับสนุนงานออฟฟิศและงานธุรการ (32.8%) งานด้านการขาย (32.1%) และงานด้านการติดตั้ง การบำรุงรักษา และการซ่อมแซม (30.2%) รวมทั้งกลุ่มอาชีพด้านการเตรียมอาหารและการบริการ การขนส่ง การผลิต และกลุ่มอาชีพงานบริการอื่น ๆ

จากการวิเคราะห์ พบว่า ระดับการศึกษา มักจะมาพร้อมความต้องการต้องการประสบการณ์ที่สูงควบคู่กันไปด้วย โดยตำแหน่งงานสำหรับระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ต้องการผู้มีประสบการณ์ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป คิดเป็น 78.6% และเกือบ 40% ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป

ในขณะที่ตำแหน่งงานระดับอาชีวศึกษา แม้ว่าส่วนใหญ่ต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ แต่เกือบทั้งหมดเป็นตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี นอกจากนั้น ตำแหน่งงานระดับอาชีวศึกษาก็ยังเปิดรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในสัดส่วนสูงกว่าในระดับปริญญาตรีมากด้วย ส่วนตำแหน่งงานระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่เป็นงานระดับเริ่มต้นที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงาน

จะเห็นได้ว่าระดับการศึกษาไม่สามารถแทนที่ประสบการณ์ทำงานได้ แต่กลับเป็นสิ่งที่หนุนเสริมให้กันและกัน ซึ่งภาครัฐและสถานบันการศึกษาต้องหนนับหนุนให้ส่งเสริมการฝึกงานทั้ง ทวิภาคี-สหกิจศึกษา


อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งงานอย่าง ด้านการเงิน คอมพิวเตอร์ วิศวกรรม รวมถึงงานด้านกฎหมาย มักต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงานมาบ้าง โดยมีตำแหน่งงานสำหรับผู้เริ่มอาชีพไม่มากนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

เนื่องจากมีความต้องการรับผู้สมัครงานที่สำเร็จการศึกษาใหม่ไม่มาก และเมื่อผู้สมัครงานไม่มีโอกาสในการทำงาน ก็จะไม่มีประสบการณ์ไปสมัครงาน ส่วนงานที่มีสัดส่วนการรับผู้ไม่มีประสบการณ์นั้นมักเป็นงานพื้นฐาน หรือเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะความรู้สูงมากนัก เช่น งานด้านการขาย งานการผลิต และงานบริการต่างๆ

คณะผู้วิจัย ทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอว่า เพื่อลดปัญหาช่องว่างระหว่างผู้ที่สำเร็จการศึกษา แต่ยังขาดประสบการณ์การทำงาน รัฐบาลควรพิจารณาส่งเสริมการฝึกงานสำหรับผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน (internship หรือ traineeship)โดยอาจศึกษาแนวทางในต่างประเทศ และร่วมหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการที่สามารถใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี (สถานประกอบการและสถานศึกษาร่วมกันฝึกปฏิบัติจริงให้กับผู้เรียน) หรือสหกิจศึกษา (ระบบการศึกษาที่ผสมผสานการเรียนเข้ากับการทำงาน) มากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ทำงานอย่างเข้มข้นในสาขาอาชีพที่เรียนมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหางาน และช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกของการทำงานได้ราบรื่นมากขึ้น

อ่านข่าว:

 ปลัดแรงงาน แจงยิบ ยืนยันสิทธิรักษา "ประกันสังคม" ไม่น้อยหน้า "บัตรทอง" 

สบส.แนะ "ทำลักยิ้ม" เสริมโชคปัง ไม่ระวังอาจพังได้

ผงะเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่ม 5.3 เท่าใน 7 ปี หวั่นกระทบเยาวชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง