มัสยิดกรือเซะ วันนี้เปลี่ยนไปเพราะถูกบูรณะขึ้นใหม่ มันเหมือนแผลภายนอกที่รักษาต่อเติมได้ แต่แผลในใจที่กว้างและบาดลึก นานแค่ไหนมันก็ยังฝังอยู่ในใจ
นางคอลีเยาะ หะหลี ครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุมัสยิดกรือเซะ สะท้อนความรู้สึกที่เจ็บปวด
20 ปี สำหรับบางคนความทรงจำอาจเลือนราง แต่สำหรับเธอ ภาพของลูกประคำที่อยู่ในมือศพพ่อ กับลมหายใจสุดท้ายที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี ยังคงแจ่มชัด

การกลับมาที่มัสยิดกรือเซะอีกครั้งในวันนี้ (20 ก.พ.) แววตาจึงยังมีน้ำตาซึมกับความทรงจำเดิม ในวันสุดท้ายที่พ่อและคนในหมู่บ้านควนโนรี อ.โคกโพธิ์ เกือบ 10 คนมาจบชีวิตจากการปะทะในมัสยิดแห่งนี้ พร้อม ๆ กับในเหตุรุนแรง 11 จุด เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ที่มีผู้คิดต่างเสียชีวิตกว่า 108 คน ภายใต้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในสมัยนั้น และกลายเป็นหนึ่งในเหตุปฐมบทความขัดแย้งที่คุกรุ่นมาจนถึงวันนี้
สำหรับนางคอลีเยาะแล้ว วันนี้แทบไม่ต่างจากวันวาน โดยเฉพาะครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ ที่ยังถูกเมินเฉยและอยู่กับตราบาป
“คนที่ตายไปแล้วก็คือจากตาย แต่คนที่เหลืออยู่ ลูก สตรีหม้าย ครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง เขาไม่มีส่วนรู้เห็น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง คนเหล่านี้กลับถูกปัดความรับผิดชอบ ไม่สนใจเขาเลย ทำให้เขายากลำบากเพราะมีตราบาปติดตัว ทุกคนก็ตราหน้าเขาว่าเป็นลูกโจร ลูกกบฏ” นางคอลีเยาะ กล่าว

วลี “โจรกระจอก” ที่กลายเป็นภาพจำสำหรับอดีตนายกทักษิณ ทำให้หลายคนไม่มั่นใจถึงการเปลี่ยนแปลง หลังการมาเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 23 ก.พ.นี้
ในมุมมองของนายอับดุลสุโก ดินอะ ผู้นำศาสนา จ.สงขลา ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับเชิญจากนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ที่เชิญตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ได้เสนอข้อมูลในการแก้ปัญหาภาคใต้
นายอับดุลสุโก เห็นว่า การเลือกมาเยือนโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ที่มีนายมะแซ อุเซ็ง เป็นครูและเจ้าของแผนการปฎิวัติบันได 7 ขั้น ซึ่งเคยถูกทางการออกหมายจับพร้อมตั้งรางวัลนำจับถึง 10 ล้านบาท ของอดีตนายกทักษิณ อาจสะท้อนถึงความพยายามแก้ปัญหาในทางลับตามแบบถนัด แต่เส้นทางนี้ก็ไม่ง่ายนักในยุครัฐบาลผสม
“การพูดคุยสันติสุขเริ่มสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็จริง หรือแม้แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีอำนาจทหารแบบเบ็ดเสร็จ ก็พิสูจน์แล้วว่ายังแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้ ยิ่งสถานะของพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลผสมในปัจจุบันก็มีข้อต่อรองในทางพฤตินัยอีกมาก ท่าทีนโยบายพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่กล้าพูดออกมาตรง ๆ ในเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” นายอับดุลสุโก แสดงความคิดเห็น

ด้านนายทักษิณ เคยให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวภาคใต้ ไทยพีบีเอส ผ่านคลับเฮ้าท์ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 เชื่อว่า นายอันวาร์มีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหา ซึ่งการดับไฟใต้ให้มอดลงได้จริงต้องผ่านการพูดคุยสันติสุขเท่านั้น และเชื่อว่าจะเห็นได้ในช่วงที่ตัวเองยังมีชีวิตอยู่
“เมื่อผมได้ย้อนกลับไปมอง ปัญหาภาคใต้เอาทหารนำไม่จบ ต้องเอาการเมืองนำ ทหารหลบไปก่อน แล้วพูดคุยกัน ก็คือเข้าใจ เข้าถึง พัฒนานั่นแหละ ตอนแรกเข้าถึง ต้องเริ่มที่การคุยกัน ก่อนหน้านี้มันข้ามขั้นตอนนี้ไป ผมก็อยากบอกคนใต้ว่าถึงเวลาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องพูดคุยกัน ใครมีตัวแทนจากกลุ่มไหนเอามาคุยกัน คุยกันเสร็จเรียบร้อยก็มาวางแนวในการพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เขารัก ให้เดินไปทางไหน” นายทักษิณ แสดงความคิดเห็นผ่านคลับเฮาท์ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564

การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบกว่า 20 ปี ของนายทักษิณ นอกจากพบปะกลุ่มต่าง ๆ แล้ว ยังเดินทางไปบ้านนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ซึ่งมีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นกันมาก่อน ระหว่างกลุ่มวาดะห์กับอดีตนายกทักษิณ ทำให้บางคนมองว่าพรรคประชาชาติก็ไม่ต่างไปจากแขนงหนึ่งของพรรคเพื่อไทยที่งอกเงยในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
รายงาน : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ บรรณธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ ไทยพีบีเอส
อ่านข่าว
สอบวินัยร้ายแรง "บิ๊กโจ๊ก" โยงเว็บพนันโทษ 2 ทางไล่ออก-ปลดออก
จับ "สุธี เชื่อมไธสง" คดีข้าวจีทูจี หนีนาน 10 ปี ส่งตัวรับโทษคุก 32 ปี
ปลัดแรงงาน แจงยิบยืนยันสิทธิรักษา "ประกันสังคม" ไม่น้อยหน้า "บัตรทอง"