มือใหม่หมาด ๆ ในแวดวงการเมือง แต่มีประสบการณ์ทำงานภาคเอกชนอย่างโชกชน ผ่านด่านเลือกตั้งสมาชิกวุฒิ (สว.) เข้ามาได้ มีตำแหน่งประธานอนุกรรมาธิการด้านการคลัง ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ไทยพีบีเอสออนไลน์ คุยเปิดใจกับ "ดร.ชญาน์นันท์ ตริยะตระการชัย" สมาชิกวุฒิสภา (สว.)
ในฐานะผู้เสนอแนวคิดและการตั้งรับ "ปฏิรูปโครงสร้างภาษีของไทย" ที่จะนำเสนอรัฐบาลให้พิจารณาในปี 2568 หลังกระทรวงการคลังวางแผนปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโตช้าและลดความเสี่ยงจากหนี้สาธารณะที่ใกล้แตะเพดาน
คาดอีก 5 ปี หนี้สาธารณะไทยพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 70 ต่อจีดีพี
แนวคิดเรื่องปฏิรูปโครงสร้างภาษี เราได้ระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น รศ.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สรุปภาพแนวทางการคลังและผลกระทบ มีข้อมูลน่าสนใจ คือ หนี้สาธารณะไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดในอีก 5 ปี ตั้งแต่ปี 2568-2572 อาจขยายตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่อยู่ร้อยละ 64.4 ต่อจีดีพี
ดร.ชญาน์นันท์ บอกว่า การขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะที่สูงมากต่อเนื่อง จะส่งผลต่อการกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลทางการคลัง ดุลเงินสด หลังการกู้ติดลบ จนกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ไทยยังเสี่ยงสูญเสียจุดแข็งด้านเสถียรภาพทางการคลัง ที่ปัจจุบันได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB+ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อันดับต่ำกว่าไทยหนึ่งระดับ คือ BBB พบว่าในช่วง 3-4 ปี หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มสูงขึ้นจนเกินระดับของประเทศเหล่านั้น
"สัดส่วนภาระดอกเบี้ย ต่อรายได้สุทธิ ซึ่งเป็นเครื่องมือชี้วัดสำคัญ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินร้อยละ 10 ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า รัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายการคลัง อย่างระมัดระวัง ให้ความสำคัญต่อวินัยการคลังมากยิ่งขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการลดอันดับความน่าเชื่อถือ" ประธานอนุกรรมาธิการด้านการคลังกล่าว
"หนี้ภาครัฐ"กระทบความสามารถด้านการแข่งขัน
ดร.ชญาน์นันท์ย้ำว่า การเพิ่มขึ้นของภาระหนี้รัฐ ทำให้การขาดดุลการคลังเรื้อรัง รัฐมีหนี้เพิ่มสูง ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 9.6 และในอีก 5 ปี ระหว่าง 2568-2572 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ขณะที่รัฐบาล ยังมีรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน เช่น ค่าตอบแทนบุคลากร ค่าสวัสดิการ และการชำระหนี้ ถึงร้อยละ 67.2 ของงบประมาณฯ ทำให้ส่งผลต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันของรัฐบาล ในการสนับ สนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการรับมือวิกฤตในอนาคต
ส่วนรายจ่ายภาครัฐก็สูงตัวอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขตั้งแต่ปี 2547-2556 เฉลี่ยร้อยละ 17 ต่อจีดีพี ขณะที่รายรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก “วิกฤตต้มยำกุ้งต่อด้วยวิกฤตโควิด-19” เฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อจีดีดี และเมื่อเปรียบเทียบรายได้ของไทย กับกลุ่มประเทศในระดับพัฒนาการใกล้เคียงกัน พบว่าเงินสำหรับการพัฒนาของไทยอยู่ที่ร้อยละ 15.6 ต่อจีดีพี ขณะที่ประเทศในกลุ่มรายได้สูง-ปานกลาง อยู่ร้อยละ 18.3 ต่อจีดีพี
ในปี 2566 รายได้ของรัฐสุทธิ 2.7 ล้านล้านบาท ขณะที่รายจ่ายรวม 3.4 ล้านล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 2.4 ล้านบาท การลงทุน 0.7 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ยหนี้ 0.3 ล้านล้านบาท รัฐมีรายได้เพียงพอครอบคลุมแค่ค่าใช้จ่ายประจำและชำระดอกเบี้ยหนี้เท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาประเทศ

สาเหตุที่ไทยมีรายได้ ที่ยังค่อนข้างไม่เพียงพอ ดร.ชญาน์นันท์ บอกว่า มีปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ ส่วนต่างระหว่างเม็ดเงินที่จัดเก็บได้ในปัจจุบัน กับเม็ดเงินที่จะจัดเก็บได้ หากปฏิบัติการทางภาษีได้ถูกต้องครบถ้วน หรือ Compliance Gap
คือ มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ ทำให้ไม่มีผู้เข้าระบบภาษีจำนวนมาก ส่งผลให้จัดเก็บภาษีจริงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โครงสร้างนโยบายภาษี ให้ความสำคัญกับแหล่งรายได้ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความไม่สมดุล ในการจัดเก็บภาษี ระหว่างแหล่งรายได้หรือกลุ่มเป้าหมาย การปฏิรูปทั้งการปฏิบัติและการออกแบบนโยบายภาษี จึงต้องเหมาะสม เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐ
ดร.ชญาน์นันท์ อธิบายว่า ตัวเลขที่ รศ.อธิภัทร นำมาแสดงให้อนุกรรมาธิการด้านการคลังเห็นก็คือ ธุรกิจร้อยละ 75.8 อยู่นอกระบบภาษีเงินได้ มีสัดส่วนร้อยละ 19.9 ที่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และร้อยละ 4.3 ยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล
ขณะที่การกระจายตัวของผู้เสียภาษี แรงงานทั้งหมดราว 39 ล้านคน ตัวเลขในปี 2562 มีผู้ยื่นแบบเพียง 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28 เท่านั้น ผู้ที่เสียภาษีจริงมีเพียง 4 ล้านคน หรือร้อยละ 10 จนเกิดช่องว่างขนาดใหญ่
"รายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ร้อยละ 79 มาจากกลุ่มคนทำงานที่มีเงินเดือน รายได้ในครัวเรือนระดับประเทศ ร้อยละ 51 มาจากการจ้างงาน ร้อยละ 49 มาจากแหล่งรายได้อื่น ๆ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ธุรกิจส่วนตัว ซึ่งมีสัดส่วนการเสียกาษีที่ต่ำกว่า... แม้ว่าจะคิดเป็นรายได้ของครัวเรือนถึงร้อยละ 49 แต่ก็สะท้อนว่าโครงสร้างภาษีอาจไม่ครอบคลุมแหล่งรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.ชญาน์นันท์ยกตัวเลขจากการศึกษาให้ฟัง
ผู้ประกอบการ 3 ใน 4 ไม่เข้าระบบ -เสี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดร.ชญาน์นันท์บอกว่า จากข้อมูลของ รศ.อธิภัทร์ที่นำพบว่าผู้ประกอบการมากกว่า 3 ใน 4 ยังไม่เข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ได้รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่ได้จดทะเบียนประกอบธุรกิจ หรือ "หลีกเลี่ยงภาษี" ในขณะที่ธุรกิจที่เข้าสู่ระบบภาษีส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปของบุคคลธรรมดามากกว่านิติบุคคล ซึ่งสะท้อนว่าผู้ประกอบการขนาดเล็ก แม้จะมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทย แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษีอย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ยังพบการกระจุกตัวของธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT อย่างชัดเจน ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก พยายามหลีกเลี่ยงเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม รักษารายได้ให้อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด คือ 1.8 ล้านบาท ซึ่งอาจสะท้อนถึงภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจต้องการสนับสนุนเชิงนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันและส่งเสริมการเข้าสู่ระบบภาษี
ขณะที่ผลกระทบด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี พบพฤติกรรมของธุรกิจเกณฑ์รายได้ 30 ล้านบาทต่อปี ช่วงปี 2554-2560 หลังการกำหนดสิทธิประโยชน์ภาษี สำหรับเอสเอ็มอีที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ 30 ล้านบาท ธุรกิจจำนวนมาก พยายามจำกัดรายได้ให้อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้ใกล้เกณฑ์เสียภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีเพิ่มเติม
เกณฑ์เสียภาษีทำรายได้รัฐหดตัว 15.9 ทำเอกชนลดลงทุน
ดร.ชญาน์นันท์บอกว่า ผลจากการกำหนดเกณฑ์สิทธิประโยชน์ทางภาษี พบรายได้ลดลงร้อยละ 15.9 ขณะที่การลงทุน ลดลงร้อยละ 6.0 ความสามารถในการทำกำไรลดลงร้อยละ 1.1 และภาระภาษีลดลงร้อยละ 3.2 การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่งผลให้ธุรกิจมีรายได้เติบโต แต่การลงทุนและความสามารถในการทำกำไรลดลง เพราะการลดภาระภาษี อาจช่วยธุรกิจได้ในระยะสั้น แต่ไม่สร้างแรงจูงใจระยะยาว
"การให้ผู้ประกอบการเข้าระบบภาษี ด้วยการลงโทษและการบังคับใช้กฎหมายอาจไม่คุ้มต้นทุนภาครัฐ เพราะการตรวจสอบธุรกิจขนาดเล็ก ต้องใช้ทรัพยากรมาก การลดต้นทุนการปฏิบัติตามกฎระเบียบ การผ่อนคลายด้วยระบบปฏิบัติการทางภาษีที่ใช้ได้กับทุกคน หรือ One-size-fits-all tax compliance ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเข้าระบบได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ของการเข้าระบบด้วยแรงจูงใจระยะยาว ที่ไม่ใช้ภาระทางภาษี เช่น การเข้าถึงแหล่งทุนระบบ"

ผู้ประกอบการบางส่วน ยังอยู่นอกระบบภาษี รัฐจัดเก็บได้เฉพาะผู้ที่มีเงินเดือนเท่านั้น มาตรการลดหย่อนภาษีของบุคคลธรรมดา ก็ส่งผลให้ฐานภาษีแคบลงอย่างมาก จนรายได้ของรัฐลดลงร้อยละ 0.10 ต่อจีดีพี
ดร.ชญาน์นันท์บอกว่า เมื่อมองนโยบายการลดหย่อนภาษีเพื่อการออม รัฐต้องปรับ ปรุงให้ เกิดการออมในกลุ่มรายได้ปานกลางและต่ำมากขึ้น โดยเพิ่มสิทธิพิเศษให้ผู้มีรายได้น้อย หรือกำหนดเพดานสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้สูง เพราะที่ผ่านมา กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุด ใช้สิทธิลดหย่อนน้อยมาก กลุ่มรายได้ปานกลางขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่กลุ่มรายได้สูง ใช้สิทธิลดหย่อนร้อยละ 92.4
ต่างชาติลงทุนในไทย โตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับการลงทุนในไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ดร.ชญาน์นันท์ บอกว่า ไทยเติบโตช้ากว่าเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่งในระดับโลก เช่น จีนและเวียดนาม โดยสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ของไทยลดลงจากอันดับสูงสุด มาอยู่ในระดับล่างสุด จีนเติบโตสูงสุดถึง 5.7 เท่า เวียดนาม 4.2 เท่า อินเดีย 4.1 เท่า
ขณะที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ก็สูงกว่าไทย ที่ระดับ 2.0 เท่า โดยไทยอยู่ที่ 1.8 ต่ำสุดในกลุ่ม สะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังเผชิญความท้าทายการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และสัดส่วนการลงทุน FDI ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วง 24 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดเหลือเพียงร้อยละ 16 ส่วนเวียดนามเพิ่มจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 27 และอินโดนีเซีย จากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 27

เมื่อหันไปมองความสามารถในแข่งด้านภาษีในภูมิภาคอาเซียน ปัจจัยสำคัญในดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะพบว่าแต่ละประเทศ มีความแตกต่างระหว่างอัตราภาษีตามประกาศและอัตราภาษีที่แท้จริง ซึ่งต่ำกว่าประกาศ เช่น มาเลเซียเพดานร้อยละ 24.0 เก็บเพียงร้อยละ 7.0 สิงคโปร์เพดานร้อย 17.0 เก็บร้อยละ 6.4
และไทยแม้จะเก็บในอัตราต่ำ คือ เพดานร้อยละ 20.0 และเก็บเพียงร้อยละ 3.1 แต่ยังคงเสียเปรียบในเชิงการแข่งขัน ส่วนเวียดนาม มีอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำสุดในกลุ่ม เพดานร้อยละ 20.0 เก็บร้อยละ 2.7
ดร.ชญาน์นันท์ให้ความเห็นว่า การปฏิรูปภาษีต้องคำนึงความเชื่อมโยงถึงสามมิติหลัก คือ "ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเก็บ และสร้างความไว้วางใจในระบบภาษี" หากขาดสมดุล จะทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบทั้งระบบ เช่น หากไม่ขยายฐานภาษี ผู้มีรายได้น้อยอาจได้รับผลกระทบ จากการแบบรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม หากขาดการส่งเสริมจิตสำนึกที่ดี ประชาชนอาจมองว่าการเสียภาษีเป็นภาระ จึงเลือกที่จะหลีกเลี่ยง

สำหรับข้อเสนอด้านการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ดร.ชญานันท์ บอกว่า จะเป็น 1 ในแผนงาน สำคัญของอนุกรรมาธิการด้านการคลังฯ ที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจฯ รวมทั้ง แผนงานอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น การแก้ไขความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ในกลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) วิเคราะห์ประเมินผล การดำเนินงานเขตเศรษฐกิจพิเศษไทย
ทั้งหมดนี้เพื่อให้เห็น จุดอ่อน-จุดแข็ง โอกาส-อุปสรรค และข้อจำกัด ...และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของในทุกมิติ เพื่อทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลพิจารณาศึกษาต่อไป
อ่านข่าว:
“ทองคำ” โอกาสนักลงทุน บนวิกฤต “ทรัมป์ป่วน” เศรษฐกิจโลก
"ต้นไม้" หลักทรัพย์ค้ำประกัน ทางเลือก (สีเขียว)สินเชื่อ คนร้อนเงิน
รับมือ "ทรัมป์ 2.0" ป่วนโลก จี้รัฐบาลไทยตั้งวอร์รูม ป้อง "สงครามการค้า"