วันที่ 21 ก.พ.2568 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า "นิสสัน (Nissan)" อดีตบริษัทยานยนต์ลำดับต้น ๆ ของโลก ที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและหนี้เสียอย่างหนัก กลับมีดัชนีหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 40 จุด หรืออัตราร้อยละ 12 ซึ่งปิดตลาดโดยปรับลดจากระดับสูงสุดที่อัตราร้อยละ 9.47 เนื่องจากมีกระแสข่าวลือออกมาว่า นิสสันกำลังมี "ดีลลับ" กับ "เทสลา (Tesla)" ยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีของ "อีลอน มัสค์ (Elon Musk)" ให้เข้ามาเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า กลุ่มบริษัทชั้นนำในญี่ปุ่นได้เตรียมแผนที่จะดึงบริษัท "เทสลา อิงค์" (Tesla) ของ อีลอน มัสก์ เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อช่วยกอบกู้ค่ายนิสสันที่กำลังประสบปัญหา
กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลทางธุรกิจดังกล่าวนำโดย ฮิโร มิซึโน อดีตกรรมการบริษัทเทสลา และได้รับการสนับสนุนจากโยชิฮิเดะ ซูงะ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น และฮิโรโตะ อิซูมิ อดีตผู้ช่วยของนายกรัฐมนตรีซูงะ โดยกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลเหล่านี้เชื่อว่า ค่ายรถไฟฟ้ารายใหญ่จากสหรัฐสนใจที่จะซื้อโรงงานของนิสสันในสหรัฐ
แผนการลงทุนจะเป็นลักษณะของคอนซอร์เตียมที่รวมนักลงทุนหลายกลุ่ม นำโดยเทสลาที่จะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด รวมถึงอาจจะรวม บริษัท หงไห่ พรีซิสชัน อินดัสทรี เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทจากไต้หวันรายนี้เข้าเทกโอเวอร์นิสสัน
ขณะที่เหล่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของนิสสัน ออกมาเปิดเผยว่า การดึงเทสลาเข้ามาร่วมลงทุน จะช่วยกู้วิกฤตบริษัทให้กระเตื้องขึ้นมาได้ เนื่องจาก ธุรกิจยานยนต์EV ของ อีลอน มัสค์ ที่มีอยู่ก่อนหน้า จะได้ไม่ต้องเปิดไลน์การผลิตรถยนต์ EV ใหม่ให้มาความ
มาโคโตะ อุชิดะ (Makoto Uchida) ซีอีโอของนิสสัน อธิบายว่า ดีลนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเอาตัวรอดในธุรกิจยานยนต์เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้ธุรกิจรถยนต์ EV ของ อีลอน มัสค์ ยกระดับขึ้นมาด้วย
ในปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ EV ของเทสลาลดลงอย่างมาก เป็นครั้งแรกในรอบทษวรรษ ทำให้ต้องเลย์ออฟแรงงานไปมากกว่าร้อยละ 10 การร่วมมือกับเรา จะช่วยเหลือเทสลาในแง่เทคโนโลยี EV ที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่างมากแน่นอน
นิสสัน สร้างความฮือฮามาก่อนหน้านี้ไม่นาน โดยการเปิดดีลเจรจา "ฮอนดา (Honda)" ยักษ์ใหญ่ยานยนต์อีกหนึ่งบริษัท ก่อนที่จะแถลงการณ์ยกเลิกการควบรวมกิจการ ด้วยเหตุผลที่ว่า ฮอนด้าและนิสสันตัดสินใจยุติการหารือเพื่อให้ความสำคัญกับความเร็วในการตัดสินใจ และการดำเนินการตามมาตรการจัดการในสภาพแวดล้อมตลาดที่ผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ด้าน ยาสุฮิโกะ ฮิราคาวะ (Yasuhiko Hirakawa) หัวหน้าการลงทุน Rakuten Investment Management Inc. ตั้งข้อสังเกตว่า ดีลนี้ เทสลา ดีลเสียเปรียบ และแทบไม่ได้อะไรเลย เพราะนิสสันอยู่ในช่วงขาลงอย่างหนัก การเลือกลงทุนจึงอาจจะเป็นภาระมากกว่าผลกำไร
สำหรับเทสลา เป็นการยากอย่างมากที่จะคิดถึงคุณค่าที่จะได้จากนิสสัน ไม่มีมรดกตกทอดทางสินทรัพย์และสายพานการผลิตใด ๆ เลย นึกไม่ออกจริง ๆ ว่าเทสลาจะหวังอะไรจากนิสสัน และนิสสันจะสนองให้ได้
ส่วน เรโกะ โอซึกะ (Rieko Otsuka) นักวิเคราะห์จาก MCP Asset Management Japan ชวนคิดว่า ไม่ว่าใครจะดีลกับนิสสัน การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน เปิดเผยว่า บริษัทอาจพิจารณาซื้อหุ้นของนิสสันเพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกัน
ยัง หลิว (Young Liu) ประธานกรรมการฟ็อกซ์คอนน์ ทิ้งนัยสำคัญไว้วว่า "หากการร่วมมือกันจำเป็นต้องทำ เราก็จะพิจารณาประเด็นนี้ (ดีลนิสสัน) ... การซื้อหุ้นไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา ความร่วมมือ สำคัญที่สุด"