ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปฏิรูปประกันสังคม! นักวิชาการ-ภาคแรงงานเสนอแยกพ้นราชการ

สังคม
24 ก.พ. 68
17:11
0
Logo Thai PBS
ปฏิรูปประกันสังคม! นักวิชาการ-ภาคแรงงานเสนอแยกพ้นราชการ
นักวิชาการ-ภาคแรงงานชี้ ประกันสังคมถูกระบบราชการครอบ ทำให้บริหารจัดการไม่ตอบโจทย์ เสนอแยก สปส. เป็นองค์กรอิสระเช่นเดียวกับ สปสช. เพื่อความโปร่งใสและคล่องตัว ชี้ต้องมีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาดูแลกองทุน และเพิ่มสัดส่วนผู้ประกันตนในบอร์ด สปส.

วันนี้ (24 ก.พ.2568) 8 ปี ของการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ของ น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ทำให้เห็นการบริหารงานระบบราชการที่มีความล่าช้า และถูกแบ่งแยกออกเป็นหลายคณะกรรมการฯ ซึ่งมีเอกเทศออกจากกัน ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นเรื่องที่ยาก

ซึ่งแนวคิดการเสนอให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ออกจากการบริหารของระบบราชการ เป็นแนวคิดของภาคแรงงานกลุ่มใหญ่ ที่ถูกเรียกร้องมานานแล้ว ก่อนที่ น.ส.อรุณี จะเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการประกันสังคม เมื่อมีโอกาสเข้ามาในคณะกรรมการชุดนี้ จึงเสนอที่ประชุม จนได้มีการมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปศึกษาวิจัยและผลออกมาว่า สำนักงานประกันสังคมควรออกเป็นองค์กรอิสระ

เป้าหมายเพื่อสภาพคล่องในการบริหารกองทุน สิทธิประโยชน์ รวมถึงเปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมืออาชีพ เข้ามาบริหารกองทุนให้ได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น และปรับสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมา มีหลายองค์กรออกจากการบริหารของระบบราชการ และยังคงอยู่ได้ในปัจจุบันอย่างมั่นคง

ถ้าจะดี ประกันสังคมน่าจะต้องเป็นองค์กรอิสระ เราจ้างคนเก่ง ๆ มาเลย คนงานเขาพูดเงินเดือนแพงหน่อยไม่เป็นไร แต่ต้องบริหารกองทุนแบบมีประสิทธิภาพ และมีวิสัยทัศน์ สามารถลงทุนแล้วมีกำไร เปิดเผยข้อมูลให้ผู้ประกันตนได้สบายใจ และสิทธิประโยชน์อะไรที่เพิ่มได้ ไม่ต้องคอยให้คนงานขอ

แต่ดูเหมือนว่าข้อเสนอให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ และยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน โดยไม่บริหารด้วยระบบราชการ และเลขาธิการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ต้องเป็นมืออาชีพ ไม่ใช้ข้าราชการ ที่ น.ส.อรุณี พยายามผลักดันเข้าบอร์ดประกันสังคม จะหายเงียบไปและไม่มีการสานต่อ แม้จะมีงานวิจัยสนับสนุนจึงอยากให้รัฐบาลมาเป็นตัวกลางในการผลักดันข้อเสนอนี้

น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ

น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ

น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ

"เราอยากเห็นจริง ๆ ว่ามีการปฏิรูประบบประกันสังคมจริงจังสักที ซึ่งเราก็คาดหวังว่ารัฐบาลน่าจะเป็นเจ้าภาพ มันจะต้องมีพระเอกขี่ม้าขาว รัฐบาลต้องแข่งขันเรื่องนี้ ถ้ารัฐบาลไม่เริ่ม มันก็ยากนะ พวกเราได้แต่บ่น" ส่วนข้อกังวลจากหลายฝ่าย ที่มองว่า หากสำนักงานประกันสังคมออกจากระบบราชการ จะทำให้กองทุนล้มละลาย หรือเกิดการทุจริต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ มองว่า แม้ยังอยู่ในระบบราชการก็มีสิทธิที่จะล้มละลายและเกิดการทุจริตได้ หากไร้ความโปร่งใส การตรวจสอบได้ รวมถึงการบริหารกองทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

มธ. แนะแยก สปส. เป็นอิสระ - ชง สปสช. ดูแลผู้ประกันตน

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแนวทางปฏิรูปประกันสังคม โดยชี้ว่ารากของปัญหาอยู่ที่การถูกระบบราชการครอบไว้ ทำให้การบริหารจัดการไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

ผศ.ดร.ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เสนอให้แยกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกจากกระทรวงแรงงาน ให้เป็นหน่วยงานอิสระเช่นเดียวกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่บริหารกองทุนบัตรทอง โดยให้มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นมา เพื่อความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

ดร.ธร กล่าวว่า การที่ สปส. ยังอยู่ภายใต้ระบบราชการ ทำให้ขาดอิสระในการตัดสินใจและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตนได้อย่างคล่องตัว การแยกออกมาจะทำให้การบริหารจัดการงบประมาณและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอให้เพิ่มสัดส่วน ดึงการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน ให้เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกันตน

ผศ.ดร.ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

ผศ.ดร.ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

ผศ.ดร.ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

ด้าน ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. เห็นด้วยกับการแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการ โดยเสนอให้มีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาดูแลกองทุน และเพิ่มสัดส่วนผู้ประกันตนในบอร์ด สปส. ให้มากกว่านายจ้างและภาครัฐ

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า การมีผู้บริหารมืออาชีพจะช่วยให้การบริหารเงินสมทบของผู้ประกันตนงอกเงยมากขึ้น และสามารถประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับกองทุนได้ และยังเสนอให้ถ่ายโอนสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของประกันสังคมไปให้ สปสช. ดูแลแทน เพื่อให้การดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีมาตรฐานเดียวกัน ส่วนประกันสังคมก็สามารถนำเงินส่วนต่างไปเพิ่มสวัสดิการด้านอื่น ๆ ให้กับผู้ประกันตนได้

สำหรับข้อกังวลที่ว่าการบังคับให้แรงงานต้องเข้าระบบประกันสังคมอาจทำให้ผู้ประกันตนบางส่วนรู้สึกว่าได้รับสิทธิประโยชน์การรักษาน้อยกว่าสิทธิบัตรทองนั้น ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ประกันสังคมไม่ได้ดูแลแค่การรักษาพยาบาล แต่ยังมีสวัสดิการด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การคลอดบุตร เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินชดเชยจากการว่างงาน และเงินบำนาญ ซึ่งเป็นการประกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกันตน

ดร.กฤษฎา ยังกล่าวถึงทิศทางและอนาคตของระบบราชการที่จะมีลูกจ้างภาครัฐและพนักงานราชการมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของข้าราชการที่เบิกจ่ายค่ารักษาจากกรมบัญชีกลางน้อยลง การรวมกองทุนประกันสังคมและบัตรทองจึงเป็นการปูรากฐานการดูแลระบบบริการสุขภาพให้แข็งแรง ก่อนจะนำไปสู่การรวมกองทุนการรักษาที่มีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกันสำหรับประชาชนทุกคน

ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.

ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.

ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.

อ่านข่าวอื่น :

สปส.ย้ำชัด! สิทธิไม่ด้อยกว่าใคร ดูแลผู้ประกันตน 24.73 ล้านชีวิต

“เนวิน” ถึง รร.พูลแมน หลังสะพัดนัดเคลียร์ “ทักษิณ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง