ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เร่งด่วนอันดับ 1 ช่วยชีวิตคนงาน อันดับ 2 คลี่ปมเหตุตึก สตง.ถล่ม

ภัยพิบัติ
31 มี.ค. 68
15:00
445
Logo Thai PBS
เร่งด่วนอันดับ 1 ช่วยชีวิตคนงาน อันดับ 2 คลี่ปมเหตุตึก สตง.ถล่ม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2 พันล้านถล่ม ขณะเกิดแผ่นดินไหว เป็นข้อกังขาใหญ่สำหรับคนทั่วไป เพราะตึกหรืออาคารอื่น ทั้งสร้างเก่าและสร้างใหม่ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดอื่น ๆ กลับไม่เป็นอะไรมาก นอกจากมีรอยร้าว หรือแผ่นปูนกะเทาะ อันเป็นผลจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินขยับตัว

แม้จะมีข่าวอาคารบางแห่ง เช่น อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือ อาคาร A ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ ต้องอพยพเจ้าหน้าที่ออกจากตึก เพราะได้รับแจ้งว่า มีเสียงดังและปรากฏรอยแยกของตัวอาคารให้เห็น แต่ต่อมากลับได้รับการยืนยัน ว่าเป็นเพียงความเข้าใจผิด

จึงเกิดคำถาม เหตุใดจึงเกิดเหตุอาคารสูง 30 กว่าชั้นพังถล่มลงมากองกับพื้น เพียงแห่งเดียว ทั้งที่ถือเป็นโครงการของรัฐ และใช้งบลงทุนสูงถึง 2,136 ล้านบาท

ที่สำคัญ สตง.คือ หน่วยงานที่มีภาระหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องโปร่งใสเรื่องการใช้เงินงบประมาณ จึงต้องเป็น “ต้นแบบ” ที่ดีให้กับองค์กรอื่น ๆ เรื่องการต่อต้านการทุจริต หรือความไม่ชอบมาพากลทั้งปวง

โครงการนี้มีบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบ และมีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ITD-CREC) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง หนึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านกิจการก่อสร้างของไทย ผ่านผลงานระดับเมกะโปรเจ็คท์มากมาย อีกหนึ่งผู้ร่วมลงทุน เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน โดยมีกิจการร่วมค้า PKW เป็นผู้ควบคุมงาน

ได้รับอนุมัติจาก ครม.และงบประมาณตั้งแต่ปี 2563 ก่อนจะเริ่มก่อสร้าง 15 ม.ค.2564 กำหนดสิ้นสุดโครงการเดิม 31 ธ.ค.2566 ก่อนจะมีการขยายเวลาก่อสร้างในเวลาต่อมา แม้โครงการนี้ จะมีการลงนามใน “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) หรือ IP” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

แต่ฟังจาก นายมานะ นิมิตมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย หรือ ACT ระบุว่า ผู้สังเกตการณ์จาก ACT ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบหลังจาก สตง. คัดเลือกผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และมี TOR พร้อมแบบก่อสร้างแล้ว

ต่างจากโครงการข้อตกลงคุณธรรมโครงการอื่น ที่ปกติจะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จาก ACT เริ่มเข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่เขียนข้อกำหนด เงื่อนไขการประกวดราคา หรือ TOR เพื่อป้องกันการล็อคสเปก การฮั้วประมูล และการตั้งงบประมาณสูงเกินจริง ให้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายและโปร่งใส

นายมานะ ยังระบุว่า พบว่าการก่อสร้างหย่อนประสิทธิภาพ เห็นได้จากการก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วง ๆ และเมื่อทำงานต่อก็ทำอย่างล่าช้ามาก จนคณะผู้สังเกตการณ์ได้ทักท้วงมาโดยตลอด กระทั่งถึงเดือนมกราคม 2568 สตง.ได้แสดงท่าทีเตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้าง

นั่นเท่ากับส่อเค้าว่า โครงการนี้มีแนวโน้มเกิดความผิดปกติ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ลงนามแต่งตั้ง ต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ประกอบด้วย ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงแจงสาเหตุอาคารถล่มเพราะแผ่นดินไหวอย่างเดียว ซึ่งตรงกับสภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุตั้งแต่ต้น

ในจำนวนนี้ รวมทั้ง ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อว่า เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง และไม่ควรจะเกิดขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่เรื่องการออกแบบ และการก่อสร้างว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามขั้นตอน หรือไม่ อย่างไร

ไม่ต่างจากวิศวกรระดับแถวหน้าของไทยหลายคน รวมทั้งกูรูด้านที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งด้านกฎหมาย ก็มีปมคำถามนี้ค้างคาใจ ไม่ต่างจากนายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ยอมรับว่า ข้องใจในประเด็นนี้เช่นกัน

จึงเป็นคำถามที่ทุกคนรอคอยคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งคนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดี และประชาชนให้ความน่าเชื่อถือที่สุด ไม่มีใครเหมาะสมกว่านายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ที่ได้แสดงวุฒิภาวะความเป็นผู้นำที่โดดเด่นในช่วง 2-3 วันแรกของการเกิดแผ่นดินไหว และอาคารสตง.แห่งใหม่ถล่ม

แม้คณะกรรมการที่นายอนุทินตั้งขึ้น จะต้องส่งผลสรุปและอาจรวมถึงการให้ความเห็นกลับมายังนายอนุทิน ภายในกรอบ 7 วัน แต่เชื่อว่า นายอนุทินน่าจะส่งต่อให้นายกฯ เพื่อนำแถลงเรื่องนี้มากกว่า

ถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนลำดับ 2 ต่อจากการเร่งช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบภัยที่โชคร้ายติดอยู่ภายใต้ซากปรังหักพังของอาคาร สตง.

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : อัปเดตตึกสตง.ถล่มตาย 11 คนเร่งค้นหาผู้สูญหาย 78 คน

แนะ 8 วิธีแก้อาการ "โรคสมองเมาแผ่นดินไหว"

ย้อนรอย 10 ปี แผ่นดินไหวรุนแรงทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง