ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สงครามเศรษฐกิจโลก “ระเบิด” ไทยต้องสู้ (ทรัมป์) แบบ “มดแดง”

เศรษฐกิจ
4 เม.ย. 68
16:47
210
Logo Thai PBS
สงครามเศรษฐกิจโลก “ระเบิด” ไทยต้องสู้ (ทรัมป์) แบบ “มดแดง”
อ่านให้ฟัง
13:33อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

อาฟเตอร์ช็อกหนักหน่วงไม่น้อยหน้าหน้าแผ่นดินไหว อีกระลอก เมื่อ “โดนัล ทรัมป์”ประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ขยับและปรับไป-มา จนตัวเลขล่าสุดของประเทศไทยหยุดอยู่ที่ 36% ทำเอาเศรษฐกิจอาเซียนสั่นสะเทือนทั่วทั้งภูมิภาค

ในกลุ่มประเทศอาเซียน เมียนมา 44 % ฟิลิปปินส์ 17 % กัมพูชา 49 %, ลาว 48%, เวียดนาม 46%, อินโดนีเซีย 32%, บรูไน 24 %, มาเลเซีย 24% และสิงคโปร์ 10 %

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ยืนเคียงข้าง สหรัฐ ฯ แม้จะได้รับผลกระทบ แต่อาจต่อรองกันได้ แต่กลุ่มประเทศที่ถูกจัดเป็นฐานการผลิตของจีน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ลาว ล้วนแล้วเจอกำแพงภาษี “อ่วม”อรทัยทั้งสิ้น

“ไทย” ทางสองแพร่ง บนกำแพงภาษีสหรัฐ ฯ

ขณะที่ “ไทย” ที่ยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ไม่เลือกข้าง “หนักหนาสาหัส” ไม่น้อย ท่ามกลางสารพัดปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ระดับสากล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ดังกล่าวกับ “ไทยพีบีเอส ออนไลน์” ว่า ยังเป็นเพียงการตั้งกรอบเพื่อเจรจา และไม่ได้หมายความว่า สหรัฐฯจะเล่นงานตามที่ระบุไว้ เพราะหากทำเช่นนี้ เศรษฐกิจโลกพังแน่นอน

“การเก็บภาษีสินค้าประเทศจีนกว่า 50 % อาจจะทำให้สหรัฐอเมริกาพังด้วย หากมองภาพรวมเศรษฐกิจโลก คือ การที่ตั้งภาษีสูง ๆ ไว้ก่อน เพราะสหรัฐฯ ต้องการนำไปสู่การเจรจา และแน่นอน ประเทศไทยก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น ทุกประเทศที่ถูกประกาศตั้งกำแพงภาษี จะต้องตั้งคณะทำงาน ฯ ขึ้นมาเจรจา คาดว่า ต้องใช้เวลานานเป็นเดือน ซึ่งในหลายประเทศ จะมีผลบังคับใช้ในวันเสาร์ที่ 5 เม.ย.นี้ ส่วนอื่น ๆ ยังต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์”

รศ.ดร. สมชาย บอกว่า สำหรับผลกระทบที่พอจะเห็นได้ทั้งโลก คือ ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือครึ่งปีหลัง และต้องดูว่าสิ่งที่ไทยเจรจาจะนำไปสู่มาตรการผ่อนคลายภาษี 37 % ได้ถึงขนาดไหน หากผลการเจรจาดี ตัวเลขก็อาจถูกปรับลดลง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ 2 กรอบ คือ ไทยสามารถยอมโอนอ่อนในการนำเข้าสินค้า เพื่อแก้ปัญหาเรื่องขาดดุลการค้าหรือไม่ หรืออาจดำเนินมาตรการอื่น ๆ ควบคู่กันไป

“สิ่งที่ ทรัมป์ ต้องการไม่ใช่แค่การเจรจา เรื่องการค้าอย่างเดียว เขารวมมิติต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น กฎระเบียบ เช่น การละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การให้บริการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆเพื่อให้เกิดการขยายตัวในการให้บริการ เนื่องจากสหรัฐฯต้องการส่งเสริมเรื่องการลงทุน ในประเทศของเขา ดังนั้นหากใครมีการเตรียมพร้อมร่วมกับเอกชนในเรื่องการลงทุนก็จะเป็นการผ่อนคลาย”

อย่างไรก็ดี ร.ศ.ดร. สมชาย เชื่อว่า ทรัมป์ จะใช้มาตรการนี้ในด้านมิติทางการเมือง เพื่อกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย จะเห็นได้ชัดจากกรณีสหรัฐฯ ต้องการเล่นงาน ประเทศจีน เพราะต้องการให้มีคณะเจรจาเรื่อง TIK TOK หรือการประกาศเล่นงาน ประเทศเม็กซิโก และแคนาดา จากปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง

ไม่ใช่กระสอบทราย แนะสู้แบบ “มดแดง ”

“สหรัฐฯ ไม่อยากให้ไทยโอนเอียงไปทางด้านจีน มิติด้านนี้ จึงขึ้นอยู่กับความ สามารถของรัฐบาลไทยในการต่อรอง เพื่อลดราวาศอก…แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ไทย ก็ไม่ใช่กระสอบทราย หากเราทำแบบ แคนาดา และเม็กซิโก ด้านหนึ่งยอมโอนอ่อน แต่อีกด้านหนึ่งก็สู้”

ไทยสู้ได้ โดยใช้วิธีการสู้แบบ มดแดง คือ กัดเจ็บ ทั้ง ๆ ที่ตัวเล็กกว่า และหาทางตอบโต้เรื่องสินค้าที่เกี่ยวกับฐานเสียงของเขา เช่น สินค้าด้านการเกษตร ซึ่งไม่มีอยู่ในมลรัฐของพรรครีพับลิกัน ก็จะได้ผล เพราะสหรัฐ ฯ ยังจำเป็นต้องใช้สินค้าเกษตรจากไทยหลายตัว ดังนั้น การที่จะเล่นงานไทย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ย้ำว่า ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของคณะเจรจาของฝ่ายไทยว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหนการทำเช่นนี้ ขึ้นอยู่กับกึ๋น ของทีมเจรจาว่า จะทำให้สหรัฐฯ เกรงใจเหมือนประเทศอินโดนีเซียได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดมาตรการผ่อนปรน ..แต่ไทยก็ไม่ใช่ว่า ไม่มีอำนาจเลย หากเราวางตำแหน่งทางการเมืองให้ดี ไม่ได้ฝักไฝ่อยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยตรง จะเอาตัวรอดไปได้

“การขู่จะเก็บภาษี ประเทศในสหภาพยุโรป เช่น แคนาดา จะเก็บภาษีไวน์ 200% แม้จะยังไม่ได้ทำ จึงยังไม่มีใครตอบได้ว่า เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร แต่คาดว่าไตรมาส 2 พอจะเห็นชัด แต่สิ่งที่พอจะประเมินได้ คือ สงครามการค้าระเบิดขึ้นแล้ว”

และการปรับขึ้นภาษีของ “ทรัมป์” ในครั้งนี้ ถือเป็นอัตราการคิดภาษีสูงที่สุดในรอบ 130 ปี จากเมื่อปี 1930 เคยมีการเก็บภาษีไว้สูง จนกระทั่งเกิดวิกฤตโลกเรียกว่า The Great Depression

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบการเก็บอัตราภาษี ในขณะนั้น ยังน้อยกว่าปัจจุบัน หรือเทียบเท่ากับภาษียุค “วิลเลียม แมกคินลีย์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1897 – 1901 ซึ่งเคยเก็บภาษีถึง 50% แต่สิ่งที่ ทรัมป์ ทำถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เพราะเป็นภาษีระดับที่สูงสุดตั้งแต่ปี 1890

รศ.ดร.สมชาย บอกว่า อีกนัยหนึ่งมองได้ว่า การเก็บภาษีของ “ทรัมป์” เพื่อต้องการเรียกเพื่อเจรจาต่อรอง เช่น ตั้งเป้าไว้ 100% เมื่อเจรจาแล้วอาจจะเหลือแค่ 60% หรืออาจจะพอใจแค่ 50% ก็เป็นได้ ...แต่เกมนี้ไม่ได้หมาย ความว่า สหรัฐอเมริกาชนะ

ต่อสู้ไป-สู้มา สหรัฐอเมริกาฯ ก็จะเจอปัญหาเสียเอง จึงต้องมีการใช้ไม้อ่อนกับไม้แข็ง ควบคู่กันไป แม้หลาย ๆ ประเทศที่ถูกตั้งกำแพงภาษีสูง ๆ จะไม่ใช่กระสอบทรายให้สหรัฐ ฯ ซ้อมก็ตาม แต่ก็ยากหลีกเลี่ยงที่จะต้องได้รับผลกระทบ

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นเต็ม ๆ กับไทย เมื่อเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง คือ ผลกระทบต่อการส่งออก เศรษฐกิจอาจจะติดลบ การท่องเที่ยวก็จะลดลง ความมั่งคั่งจะถดถอยจากมาตรการกีดกันทางการค้า และประเทศอื่น ๆ จะงัดมาตรการตอบ โต้ซึ่งกันและกัน ประเทศจีนผลิตสินค้าราคาถูก ประเทศอื่นก็จะเล่นงานจีน ตรงนี้เป็นภาพรวมของปัญหาของสงครามทางการค้า”

อาเซียนไม่เข้มแข็ง ถูก “มหาอำนาจ” แย่งชิง

การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ รัสเซียไม่ได้ผลกระทบ ด้วยเหตุ สหรัฐฯและรัสเซีย ไม่ได้ทำการค้าระหว่างกัน ทรัมป์จึงไม่ได้ตั้งกำแพงภาษี นอกจากนี้ รัสเซียไม่มีสินค้าอื่นใด นอกจากอาวุธและน้ำมัน แต่สหรัฐฯ จึงใช้วิธีการไปเล่นงาน ยูเครน แคนนาดา รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่สั่งซื้อแก๊สและน้ำมัน จากรัสเซียแทน ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับปัญหาสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น

ร.ศ.ดร. สมชาย มองว่า สงครามการค้าในครั้งนี้ สหภาพยุโรปอาจรวมตัวเพื่อต่อรองกับสหรัฐ ฯ ได้ เนื่องจากมีความเข้มแข็ง ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียน แม้ถูกเก็บภาษีสูงเหมือนกัน แต่ไม่มีอำนาจและพลังต่อรอง เนื่องจากการรวมตัวของอาเซียนอยู่ในลักษณะหลวมๆ โดย 3 ประเทศอยู่กับจีน ขณะที่ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อยู่ข้างสหรัฐฯ

ดังนั้นการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ทำได้ คือ ไทยและอาเซียนต้องขยายการค้าซึ่งกันและกัน หรือประสานนโยบาย ฯ บางอย่าง เพราะมี AFTA ซึ่งทำให้ขยายตัวได้ แต่ไทยทำเองไม่ได้ ต้องใช้วิธีการต่อรองแบบพหุภาคี

 

การเจรจาแบบทวิภาคีมีความเสี่ยง เพราะเขาบีบได้ และหากอาเซียนไปรวมตัวกันแทรกแซงก็จะถูกเล่นงานกลับ หรือถูกบีบกลับมาด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้หมาย ความว่า เราไม่ร่วมมือกับอาเซียน เพียงแต่ต้องเป็นลักษณะผ่อนคลายผลกระทบที่เกิดจากความกดดันทางด้านค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ส่วนผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือธุรกิจเอกชน รศ.ดร.สมชาย ย้ำว่า ต้องทำใจ ถ้าเศรษฐกิจไทยจะไม่ขยายตัว ตามรัฐบาลเคยประกาศไว้ที่ตัวเลข 2.5 - 3% และมีแนวโน้มสูงจะเหลือเพียง 1% หรือ เศรษฐกิจติดลบ

การท่องเที่ยวอาจขยายตัวบ้าง แต่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ความหวังที่ต้องการให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 36 ล้านคน เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เพราะจีนเองได้รับผลกระทบหนักมาก

เศรษฐกิจติดลบ “เอกชน-รัฐ” เตรียมรับมือ ขาดสภาพคล่อง

วิกฤตที่ไทยต้องเผชิญจากนโยบายสงครามการค้า รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบแน่นอน ขณะที่ภาคเอกชนเองก็จะต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ ไม่อยากให้ท้อ และควรใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส เช่น การปรับปรุงโครงสร้าง การแข่งขัน เพื่อรอการขยายตลาดสินค้า ภาคบริการและการส่งออก

แนะให้ขยายตลาดเจาะไปที่กลุ่มประเทศโลกใต้ หรือ global south ซึ่งน่าสนใจมาก ด้วยการปรับโครงสร้างสินค้าและบริการทำให้มีมาตรฐานดีขึ้น ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย และต้องฟื้นขึ้นมาให้เข้มแข็งกว่าเก่าให้ได้ 

สำหรับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบครั้งนี้จะมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนรวย ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งมากนัก แม้ตัวเลขกำไรจะหายไป แต่กลุ่มคนจน ถือว่าน่าห่วงมาก เพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงมาก และรัฐบาลคงต้องเตรียมการเรื่องงบประมาณที่จะให้ความช่วยเหลือ ในลักษณะบรรเทาผลกระทบ และ แก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมทั้งการดูแลด้านจิตวิทยาด้านความรู้สึก 

วิกฤตรอบนี้ ทุกประเทศเจอเหมือนกันทั้งหมด ดังนั้น ต้องทำใจ พระพุทธเจ้า สอนว่า ดิน ฟ้า อากาศ ควบคุมไม่ได้ จึงควรทำตัวให้เป็นหิน ในที่สุดก็จะผ่านพ้นไปได้ คือ ทำใจ อย่าเสียกำลังใจที่จะต่อสู้ เมื่อปัญหาเกิดแล้ว ให้ถือโอกาสพัฒนาสินค้า และปรับโครงสร้างชีวิต เพื่อให้การแข่งขันดีขึ้นในอนาคต เมื่อทุกข์ผ่านพ้น เราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้

ส่วนทางรอดทางเศรษฐกิจสำหรับนักลงทุนรายย่อย โดยการซื้อทองคำนั้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ บอก ไม่แนะนำให้เล่นเก็งกำไร ในระยะสั้น เนื่องจาก ทองคำเป็นสินค้าที่มีความผันผวน แต่ขอให้เก็บสะสมในระยะยาว โลกกำลังอยู่ในภาวะบนความไม่แน่นอนสูงมาก และยิ่งสูงมากเท่าไหร่ ตามสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นความต้องการทองคำยังมีอยู่

ในอนาคต ประเทศใหญ่ ๆ จะลดการถือครองเรื่องเงินดอลลาร์ แต่จะถือครองสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เช่น บิตคอยน์ ,คริปโต ส่วนทองคำหากมีอยู่แล้ว ไม่แนะนำให้ขาย ส่วนจะซื้อเมื่อไหร่ ควรต้องพิจารณาดู แต่ในระยะยาวอยากให้เก็บไว้เหมือนกับที่ดิน

อ่านข่าว:

ไทยสะเทือน “ทรัมป์”ขึ้นภาษี ทุบเศรษฐกิจพัง 3.59 แสนล้าน GDP เหลือ 1.93%

TDRI แนะทางรอดหนี “สงครามการค้า” ชี้ช่องไทยส่งออกสินค้าทดแทนจีน-เวียดนาม

ทรัมป์ ขึ้นภาษี ไทยสูญ 8 พันล้าน เอกชนจี้ "เพิ่มนำเข้า-เจรจา FTA"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง