ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา "จีน" ผนึกกำลัง "อาเซียน" รับมือกำแพงภาษีทรัมป์

ต่างประเทศ
17 เม.ย. 68
11:59
275
Logo Thai PBS
จับตา "จีน" ผนึกกำลัง "อาเซียน" รับมือกำแพงภาษีทรัมป์
อ่านให้ฟัง
07:23อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา การเดินสายทัวร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของผู้นำจีนถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดในฐานะเวทีกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับสงครามการค้า

"สี จิ้นผิง" ผู้นำจีน เดินทางพูดคุยกับชาติอาเซียนมาแล้ว 2 ประเทศ ซึ่งการจะได้ผลลัพธ์ตามที่หวังเอาไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าหวังมาก-หวังน้อย แต่ที่แน่ๆ คือการเยือนในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ถูกจังหวะพอดี สำหรับผู้นำจีนที่ต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า จีนเปิดกว้างทางการค้าแตกต่างจากท่าทีของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศตั้งกำแพงภาษีตอบโต้ทั่วโลก จีนก็ออกมามีบทบาทนำในการแสดงจุดยืนสนับสนุนระบบการค้าเสรี และชวนนานาประเทศให้ร่วมกัน รับมือกับความผันผวนและความไม่แน่นอน ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ก่อขึ้น ซึ่งรวมถึงในเวทีอาเซียนด้วย

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งมีอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพเมื่อวานนี้ (16 เม.ย.2568) โดยระบุว่า จีนและมาเลเซียจะยืนเคียงข้างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อต่อสู้กับนโยบายปกป้องทางการค้า การดำเนินมาตรการต่าง ๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว และการเผชิญหน้าที่แบ่งขั้ว-เลือกข้าง

นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังประกาศด้วยว่า จะร่วมกันปกป้องอนาคตที่รุ่งโรจน์ของครอบครัวเอเชีย ขณะที่ผู้นำมาเลเซีย ระบุว่า จีนเป็นหุ้นส่วนที่มีเหตุมีผล แข็งแกร่งและพึ่งพาได้ ท่ามกลางความวุ่นวายโกลาหลจากกำแพงภาษี พร้อมทั้งระบุว่า มาเลเซียจะยังคงเป็นเพื่อนกับจีนไม่เปลี่ยนแปลง

อ่านข่าว : 5 เป้าหมายกำแพงภาษี "ทรัมป์" จ่อประกาศขึ้นภาษีนำเข้ายาครั้งใหญ่

มองในด้านหนึ่ง ท่าทีดังกล่าวของผู้นำมาเลเซียสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จก้าวสำคัญของผู้นำจีนในการเดินสายกระชับมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศ ทั้งในเวียดนาม มาเลเซีย ก่อนที่จะปิดจบทริปที่กัมพูชาในวันศุกร์นี้ (18 เม.ย.2568) 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐบาลทรัมป์ 1.0 เปิดศึกทางการค้ากับจีนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ก็ทำให้บริษัทจากทั่วโลกจำนวนไม่น้อยย้ายฐานการผลิตมาที่ภูมิภาคนี้เพื่อผลิตและส่งออก ดังนั้นอาเซียนจึงเจอกับกำแพงภาษีสหรัฐฯ สูงลิบ ตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 49% สำหรับกัมพูชา

ในขณะที่อาเซียนส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มูลค่ารวมหลายแสนล้านดอลลาร์ แต่ก็นำเข้าสินค้าจีนก้อนโตเช่นกัน โดยเมื่อปีที่แล้ว อาเซียนยังคงครองแชมป์นำเข้าสินค้าจีนสูงที่สุดในโลก ซึ่ง 5 ประเทศนี้ คือ 5 อันดับแรกที่นำเข้าสูงสุดในภูมิภาค เริ่มตั้งแต่เวียดนาม มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งจีนให้ความสำคัญมากทีเดียว

อ่านข่าว : สะพัด! "รัฐบาลทรัมป์" จ่อปิดสถานทูต-สถานกงสุล 30 แห่ง

การเยือนเวียดนามของผู้นำจีนเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 4 แล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเวียดนามถือเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทจีน รวมทั้งเป็นทางผ่านในการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีด้วย ดังนั้นการเยือนในรอบนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการให้คำมั่นว่า จีนจะยังคงร่วมมือกับเวียดนามในช่วงจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์

อ่านข่าว : มหาศึกการค้าสหรัฐฯ-จีน ภาษี 104% เปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจโลก

แม้ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า ผู้นำจีนจะไปคุยอะไรกับผู้นำกัมพูชาบ้าง แต่ถ้าประเมินจากการเยือนก่อนหน้านี้ จะพบว่า นายสี จิ้นผิง พูดเรื่องเดียวกันกับผู้นำทั้ง 2 ประเทศที่ไปเยือน นั่นคือ การบอกว่า จีนเป็นเพื่อนที่พึ่งพาได้ เชื่อถือได้ ไม่ข่มเหงรังแก และยังปกป้องโลกการค้าเสรีด้วย ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้สวนทางกับบทบาทของรัฐบาลทรัมป์อย่างสิ้นเชิง ซึ่งนี่อาจจะส่งผลกระทบต่ออิทธิพลของสหรัฐฯ ในระยะยาวก็เป็นได้

แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน มูลค่าการค้าใกล้แตะ 69,000 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้าแยกเป็นระดับภูมิภาค จะเห็นว่า อาเซียนยืนหนึ่ง มูลค่าการค้ารวมเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทั้งหมดกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยสหภาพยุโรป ละตินอเมริกาและแอฟริกา ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายคนจับตาดูภูมิภาคนี้ในฐานะดินแดนใหม่ที่จีนเข้าไปบุกเบิกและโหมลงทุน เพื่อแย่งชิงอิทธิพลกับชาติตะวันตก

ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนที่สูงมากขนาดนี้ ไม่แปลกที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะพยายามผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีผ่านหลายเวทีประชุม ซึ่งคาดว่า ยังรวมถึงการพูดคุยระหว่างผู้นำจีนกับมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ด้วย

อ่านข่าว : จีนโต้กลับสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 84% มีผล 10 เม.ย.

แม้ว่าการหารือที่มาเลเซียเมื่อวานนี้ (16 เม.ย.2568) จะเน้นไปที่ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ แต่มีการคาดการณ์ว่า ผู้นำทั้ง 2 คน น่าจะหยิบประเด็นข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนขึ้นมาพูดคุยด้วย หลังจากเลขาธิการอาเซียน ประเมินว่า การเจรจา ACFTA 3.0 น่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยกำจัดกำแพงภาษีระหว่างจีนกับสมาชิกอาเซียนในสินค้าหลายรายการ และยังอาจขยายไปสู่ความร่วมมืออย่างรอบด้านอีกด้วย

การจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย.ปี 2002 ซึ่งนำมาสู่การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน โดยปัจจุบัน มีความพยายามในการปรับปรุงข้อตกลงให้ทันสมัยและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเน้นที่การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน และแก้ไขอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

นอกจากนี้ บางคน มองว่า ตอนนี้ จีนกำลังพลิกวิกฤตจากสงครามภาษีให้กลายเป็นโอกาสในการกระชับความร่วมมือกับหลายชาติ เพื่อต่อสู้กับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง แต่อาเซียนเองจะวางตัวอย่างไรในช่วงที่ก็ต้องไปเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ด้วย นี่ถือเป็นโจทย์ยากที่ต้องคิดและเดินเกมกันให้ดีๆ เหมือนกัน

อ่านข่าว : มหาศึกการค้าสหรัฐฯ-จีน ภาษี 104% เปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจโลก

ไทม์ไลน์ 2 มหาอำนาจ "สหรัฐอเมริกา-จีน" งัดข้อตั้งกำแพงภาษี  

"กัมพูชา" เตรียมขุดคลองฟูนัน เตโช ใช้งบฯ 1,700 ล้านดอลลาร์

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง