ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้จุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าระลอกใหม่ โดยสหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการภาษีกับประเทศคู่ค้าทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เกาะเล็กเกาะน้อยที่ไม่มีประชากรอยู่อาศัย
คำถามที่น่าสนใจคือ สงครามการค้าร้ายแรงน้อยกว่าสงครามอาวุธจริงหรือไม่? เพราะแม้จะไม่มีเสียงปืนหรือระเบิด แต่ผลกระทบกลับลุกลามไปทั่วโลก คนนับล้านต้องเผชิญผลกระทบจากการขึ้นภาษี การค้าระหว่างประเทศชะงัก ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ล้มระเนระนาด เศรษฐกิจของหลายประเทศได้รับผล กระทบอย่างหนัก และท้ายที่สุดย่อมสะเทือนถึงความมั่นคงของสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทรัมป์เป็นผู้นำที่พูดเก่ง ชอบโอ้อวด และให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตนเองเหนือสิ่งอื่นใด เขาเชื่อมั่นในประสบการณ์และแนวคิดของตนเองมากกว่าจะรับฟังผู้เชี่ยวชาญ ในสหรัฐฯ กลุ่มนักวิชาการ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นโยบายการขึ้นภาษีกับประเทศคู่ค้าแบบเหมารวมนั้น เป็นหนึ่งในนโยบายเลวร้ายที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยสามารถผลิตออกมาได้
ทรัมป์มีความเชื่อว่า สหรัฐฯ สามารถ "กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" (Make America Great Again) โดยฟื้นฟูฐานการผลิตอุตสาหกรรม ให้กลับมาเหมือนในยุคทศวรรษ 1930 ซึ่งในเวลานั้น สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกและเป็นผู้ส่งออกหลักของสินค้าอุตสาหกรรม แต่ในปัจจุบัน ฐานการผลิตระดับโลกได้ย้ายไปอยู่ในทวีปเอเชียเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงไม่กี่อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทโดดเด่น แต่สหรัฐฯยังได้เปรียบทางด้านบริการ การศึกษาและอื่น ๆ อีกจิปาถะ
แม้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับทั้งโลกในตอนนี้จะสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเทียบกับสงครามอาวุธที่มีผู้เสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือนนับแสนคน ก็อาจกล่าวได้ว่า สงครามการค้ายังเบากว่าในแง่ของการสูญเสียชีวิต และมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนหุ้นส่วนการค้า
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในปัจจุบันคงดำเนินต่อไปอีกนาน ทรัมป์ได้ทำลายเสาหลักของระบบ โลกาภิวัตน์อย่างสิ้นเชิง โดยเปลี่ยนทิศทางสู่การเน้นผลประโยชน์ของอเมริกาเพียงอย่างเดียว เมินเฉยต่อความร่วมมือพหุภาคี
ระเบียบโลกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น จะเป็นระเบียบที่ประกอบด้วยหลายขั้วอำนาจ แทนที่ระเบียบโลกเดิมที่มีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางมาตลอดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองกว่า 80 ปีที่ผ่านมา
สงครามการค้าครั้งนี้ ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศไปอย่างสิ้นเชิง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สนิทชิดเชื้อ เช่น สหรัฐฯ กับแคนาดา ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ก็ยังถูกทรัมป์ทำลายลงอย่างไม่เหลือชิ้นดี
ในระเบียบโลกใหม่ยังไม่มีความแน่นอน ความมั่นคงอาจไม่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพราะไม่มีประเทศใดสามารถครองความเป็นเจ้าทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงเหมือนในอดีตได้อีกแล้ว สิ่งที่อาจเกิดขึ้นแทน คือการแบ่งแยกอิทธิพลออกเป็นหลายพื้นที่ หลายกลุ่มประเทศ แต่ละกลุ่มมีศูนย์กลางของตนเอง
สหรัฐฯ ของทรัมป์ กำลังเขียนนิยามใหม่ของ "ระเบียบโลก" โดยเลือกที่จะลดบทบาทของตนเองในเวทีโลก ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
คำถามใหญ่ในวันนี้คือ หากโลกก้าวไปสู่ระบบการค้าพหุภาคีนิยมที่เคารพกติกาสากล ยอมรับในความเท่าเทียม และเปิดรับแนวคิดแบบพหุขั้ว โดยไม่มีสหรัฐฯเข้ามาเกี่ยวข้อง ความขัดแย้งและสงครามจะถูกขจัดออกไปหรือไม่?
และที่น่ากังวลกว่านั้น คือ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า "ระเบียบโลกใหม่" ที่ไร้ศูนย์กลางชัดเจนนี้ จะพาโลกไปสู่อนาคตที่มั่นคง หรือกลับสู่วังวนของความขัดแย้งซ้ำเดิม เพราะนี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่สหรัฐฯ เลือกโดดเดี่ยวตนเอง ด้วยความเชื่อว่าอดีตอันยิ่งใหญ่ ... จะสามารถฟื้นคืนกลับมาได้อีกครั้ง
มองเทศคิดไทย โดย : กวี จงกิจถาวร
อ่านข่าว : วิเคราะห์ "ทรัมป์" ยอมแพ้เจรจาจบศึกรัสเซีย-ยูเครน?