ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทรนด์เลี้ยงสัตว์ยังโต จาก เลี้ยงแบบสมาชิกในครอบครัว - สู่ช่วยสร้างรายได้

เศรษฐกิจ
24 เม.ย. 68
12:33
76
Logo Thai PBS
เทรนด์เลี้ยงสัตว์ยังโต จาก เลี้ยงแบบสมาชิกในครอบครัว - สู่ช่วยสร้างรายได้
อ่านให้ฟัง
07:11อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระแส Pet Humanization มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงโตต่อเนื่อง จาก การเลี้ยงสัตว์เสมือนครอบครัว สู่การเป็นทาส และ กลายเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างรายได้

หลัง กรุงเทพมหานคร เตรียมบังคับใช้กฎหมายใหม่ เพื่อควบคุมการเลี้ยง หรือ ปล่อยสัตว์ โดยกำหนดให้จำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงตามขนาดพื้นที่ และต้องจดทะเบียน ฝังไมโครชิปสัตว์เลี้ยง จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ม.ค.2569 หากเจ้าของสัตว์ไม่ปฏิบัติตามมีโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้เลี้ยงและสัตว์เลี้ยง  

กระแส สัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัว โตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในช่วงหลัง กระแสการเลี้ยงสัตว์ในสังคมไทยก็เพิ่มมากขึ้น ตามที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์ แนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัว (Pet Humanization) ไปจนถึงการเลี้ยงสัตว์แบบเหล่าทาส (Petriarchy)ที่พร้อมจะใช้จ่ายให้สัตว์เลี้ยงอย่างเต็มกำลัง ทำให้เกิดการลงทุนในสุขภาพและความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยงเหมือนคนจริง ๆ

สอดคล้องกับข้อมูลของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics  ที่ระบุว่า แนวโน้มการดูแลสัตว์เลี้ยงของคนในยุคปัจจุบันมีรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้ดูแลเดิมที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเอง และ กลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงมือใหม่ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงต่อตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ จากการ ประเมินค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว โดยเจ้าของจะมีภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 41,100 บ.ต่อตัวต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเลี้ยงดูแบบปล่อยอิสระที่จะมีค่าใช้จ่ายราว 7,745 บ.ต่อตัวต่อปี โดยมีค่าใช้จ่ายจากอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ค่าดูแล รวมถึงอาหารที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ในบางกลุ่มเจ้าของอาจมีวิวัฒนาการสู่การเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวแบบตามใจ หรืออาจเรียกว่า “ทาสหมา-ทาสแมว” (Petriarchy) ซึ่งบนบริบทการเลี้ยงดูที่ตามใจ โดยสัตว์เลี้ยงเป็นผู้รับที่ไม่สามารถปฏิเสธของที่เจ้าของเลือกซื้อให้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเจ้าของเลือกที่จะซื้อของให้สัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความพอใจส่วนตน ย่อมส่งผลให้การจับจ่ายในส่วนของอุปกรณ์ และค่าดูแล มีทิศทางเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

สัตว์เลี้ยงช่วยสร้างรายได้ 

นอกจากกระแสของ Pet Humanization และ Petriarchy แล้วในสังคมยุคปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจพัฒนาบทบาทจากลักษณะนิสัยส่วนตัว ที่สามารถยกระดับจาก “สมาชิกในครอบครัวปกติ” เป็น “สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้” ผ่านรูปแบบลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนในสังคมวงกว้าง หรือ Pet Celebrity และถูกพัฒนาเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer)

ทั้งนี้ การเลี้ยงสัตว์ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ “การเลี้ยงแบบครอบครัว-ที่ตามใจ-และสร้างรายได้” ส่งผลให้มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยทาง ttb analytics ประเมินมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยปี 2567 คาดมีมูลค่าแตะ 7.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 12.4 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

นอกจาก มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยที่ขยายตัวจากเทรนด์การเลี้ยงที่เปลี่ยนไปดังกล่าว รูปแบบการเลี้ยงนี้ยังส่งผลทางอ้อมไปยังธุรกิจและบริการที่สามารถรองรับมูลค่าที่ขยายตัวนี้ได้ เช่น กลุ่มโรงแรมที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง ธุรกิจรับฝึกสัตว์เลี้ยงให้กลายเป็น Petfluencer รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับบริการรักษาสัตว์ที่อาจมีการขยายขอบเขตบริการ Veterinary Telemedicine หรือ Virtual Vet ที่อาจเข้ามาตอบโจทย์กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยที่เจ้าของอาจไม่สะดวกเดินทางพาสัตว์เลี้ยงเข้ารับการรักษา เป็นต้น

คาดตลาดอาหารสัตว์ปี 67 มูลค่า 4.6 หมื่นล้าน

ขณะที่ กระแสการเลี้ยงสัตว์ก็ส่งผลต่อตลาดอาหารสัตว์ โดยข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2568 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศจะอยู่ที่ 46,000 ล้านบาท ขยายตัว 12% จากปีก่อน จากปริมาณความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนสัตว์เลี้ยง ขณะที่กำไรของธุรกิจคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้น สอดคล้องไปกับยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงที่โตต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ พื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ศักยภาพของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากมีจำนวนสัตว์เลี้ยงมากและผู้เลี้ยงมีกำลังซื้อสูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยมีสัตว์เลี้ยงอยู่ราว 3.1 แสนตัว คิดเป็น 6% ของจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด อีกทั้งคนในพื้นที่ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่าคนทั้งประเทศ

ขณะที่การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยใน ปี 2568 คาดว่า มูลค่าการส่งออกจะอยู่ที่ 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 15% ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 28.4% จากความต้องการของคู่ค้าหลักที่โตช้าลง อาทิ สหรัฐฯ อิตาลี ญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 50% ขณะที่ การส่งออกไปยังตลาดรองคาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะอังกฤษและนิวซีแลนด์

การแข่งขันในตลาดส่งออกยังคงรุนแรง โดยเฉพาะกับคู่แข่งที่ได้เปรียบด้านราคาและระยะขนส่งที่ใกล้กับตลาดคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ไทยต้องเจอคู่แข่งอย่าง เม็กซิโก ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องระยะขนส่งที่ใกล้ หรือญี่ปุ่น ที่ไทยต้องแข่งกับเกาหลีใต้ ซึ่งได้เปรียบด้านราคา 

อ่านข่าว : เลี้ยงสัตว์ใน กทม.ต้องรู้ กฎหมายใหม่ ควบคุมการเลี้ยง-ปล่อยสัตว์ 

 "ธุรกิจสัตว์เลี้ยง" โตก้าวกระโดด สร้างรายได้-ทำกำไรระยะยาว 

"สิงโต" ไม่ใช่สัตว์ป่าที่ทุกคนจะเลี้ยงได้ 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง