ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“มานะ” เปิดวงจรคอร์รัปชันก่อสร้างภาครัฐ มีครบทุกรูปแบบ แนะรื้อระบบ-ทบทวนกติกาใหม่

สังคม
24 เม.ย. 68
15:33
100
Logo Thai PBS
“มานะ” เปิดวงจรคอร์รัปชันก่อสร้างภาครัฐ มีครบทุกรูปแบบ แนะรื้อระบบ-ทบทวนกติกาใหม่
อ่านให้ฟัง
06:45อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (24 เม.ย.2568) นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงกรณี “ตึก สตง.ถล่ม : ภาพสะท้อนวงจรคอร์รัปชันในงานก่อสร้างภาครัฐ” ระบุถึงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างในงานก่อสร้างภาครัฐ กินหัวคิวสูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาท เสนอรัฐรื้อระบบทบทวนกติกาจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างใหม่ ป้องกันการเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำซาก

นายมานะ ระบุว่า งานก่อสร้างภาครัฐมูลค่า 7.8 แสนล้านบาทต่อปี ประเมินว่า ถูกคอร์รัปชันไปราว 2 แสนล้านบาท ผ่านการล็อกสเปก ฮั้วประมูล ลดงาน ลดคุณภาพวัสดุและอีกสารพัดกลโกง ทั้ง 2.3 แสนโครงการที่รัฐลงทุนไปนั้น ล้วนตกอยู่ในวงจรคอร์รัปชันแทบไม่ต่างกัน

ทำให้หลายโครงการก่อสร้างไม่เสร็จ หรือปล่อยทิ้งร้าง ไม่ต่างจากอาคาร สตง. ที่ถล่มลงมา คือ

1.บริษัทออกแบบ มีรายได้จากค่าจ้างออกแบบ และยังเป็นผู้กำหนดสเปกสินค้า เป็นการเฉพาะ ทั้งวัสดุก่อสร้าง - ตกแต่ง อุปกรณ์เครื่องใช้ ฯลฯ ทำให้ได้ค่าตอบแทนหรือคอมมิชชั่นจากผู้จำหน่ายสินค้าเหล่านั้นด้วย เช่น ผนังอาคารกระจก (Curtain Wall) มูลค่างานนับร้อยล้าน งานประตูหน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์แสงเสียง และวัสดุงานระบบต่าง ๆ เป็นต้น

การคัดเลือกบริษัทออกแบบโดยทั่วไปใช้วิธีประกวดแบบ จึงมักต้องวิ่งเต้นผู้มีอำนาจในหน่วยงาน โดยจ่ายเป็นเงินใต้โต๊ะ หรือยอมทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจ เช่น เขียนเงื่อนไขล็อคสเปกให้ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ผู้มีอำนาจต้องการ หรือประเมินราคากลางสูงเกินจริง 20-30 % เพื่อนำมาเป็นเงินทอน หรือวางสเปกสินค้าราคาแพงบางอย่างจากผู้จำหน่ายที่เจาะจงไว้

2.บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง นอกจากได้ค่าจ้างตามสัญญาแล้ว ยังมีรายได้เพิ่มจากเบี้ยเลี้ยง/ค่าล่วงเวลา ที่การเรียกเก็บจากบรรดาผู้รับเหมาในโครงการ บริษัทควบคุมงานฯ ที่ไม่ซื่อสัตย์ จะลดจำนวนวิศวกรหรือเจ้าหน้าที่คุมงานจริง ลดการเก็บวัสดุก่อสร้างไปทดสอบคุณสมบัติให้น้อยครั้งกว่าที่กำหนดในสัญญาจ้าง

บางรายใจกล้ามาก สมรู้ร่วมคิดกับผู้รับเหมา ยอมให้ลดงาน ลดสเปก โดยทั่วไปพบว่า บริษัทออกแบบมักเป็นพวกเดียวกันกับบริษัทควบคุมงาน”

3.บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ผู้รับเหมามีทั้งที่ชนะการประมูลงานโดยสุจริตและพวกที่ล็อกสเปก/ฮั้วประมูลเข้ามา ผู้รับเหมาที่ดีจะทำกำไรจากความสามารถในการบริหารจัดการก่อสร้าง ส่วนผู้รับเหมาที่คดโกง จะกอบโกยจากผลพวงการฮั้วประมูล ที่กำหนดราคากลางไว้สูงมาก ทำกำไรเพิ่มจากการลดสเปก ลดคุณภาพงาน รวมทั้งวิ่งเต้นให้มีการแก้แบบ ลดปริมาณงาน เพิ่มงาน หรือยกเลิกงานบางส่วนแล้วออกแบบใหม่ หากงานส่วนนั้นตนได้กำไรน้อยหรือขาดทุน

4.ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยราชการนั้นเอง หากผู้บริหารระดับสูงต้องการมีผลประโยชน์จากงานก่อสร้าง จะเริ่มจากบงการการกำหนดรูปแบบโครงการ แต่หากโครงการเดินหน้าไปแล้วก็อาจสั่งเปลี่ยนแปลง โยกย้ายสถานที่ เพื่อให้มีการแก้ไขหรือเขียนโครงการใหม่ส่งผลให้เรื่องกลับมาอยู่ในเกมอำนาจของตน

เมื่อเริ่มโครงการก็จะแอบชักใยอยู่เบื้องหลัง ยืมมือผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับเหมา เพื่อคอร์รัปชันในโครงการ ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีที่อันตรายที่สุดและทำให้ราชการเสียประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพวกเขายอมให้เอกชนเขียนเงื่อนไขสัญญาที่รัฐเสียเสียเปรียบหรือต้องจ่ายค่าโง่ในอนาคต

5.เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน โดยปกติหน่วยงานเจ้าของโครงการจะแต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจการจ้าง” บางกรณีมีเจ้าหน้าที่ควบคุมงานประจำโครงการ คนเหล่านี้คือตัวแทนของหน่วยงานในการรักษาผลประโยชน์ แต่บ่อยครั้งที่พวกเขากลับไปรีดไถผู้รับเหมาเป็นเงินก้อน พาไปเลี้ยงอาหาร เที่ยวสถานบันเทิง จ่ายค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตรวจงาน ฯลฯ

สินบนที่กล่าวมาคือต้นทุนการก่อสร้างที่ผู้รับเหมารู้อยู่แล้วว่าต้องจ่าย แลกกับความสะดวกหรือสมคบคิดกันทำ สิ่งไม่ถูกต้องบางอย่าง แต่หากเป็นโครงการที่มีกำไรน้อย ผู้รับเหมาอาจตกในภาวะจำยอมหรือต้องบ่ายเบี่ยง เป็นเหตุให้ถูกกลั่นแกล้งหรือดึงเรื่องเมื่อตรวจรับงาน ขอเบิกเงินค่างวด ผู้รับเหมาหลายรายทนการรีดไถไม่ไหวอาจถึงขั้นต้องทิ้งงาน

บทสรุป นอกจากที่กล่าวมา หลายโครงการยังต้องเผชิญการชักเปอร์เซ็นต์จาก “นายหน้าขายงาน” และ “ขบวนการจัดฮั้วประมูล”

นอกจากนี้ นายมานะยังได้สะท้อนปัญหาว่า โดยรวมทิศทางการพัฒนาการใช้จ่ายของรัฐ กระบวนการจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างฯ และการติดตามประเมินความคุ้มค่า ยังมีข้อจำกัดมาก

สิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุงคือ 1.เร่งรื้อระบบจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้มีกติกาเปิดกว้าง จูงใจให้เอกชนเข้าแข่งขันมากขึ้น สนับสนุนการแข่งขันเสรี เปิดให้รัฐมีทางเลือกมากขึ้น มีโอกาสเลือกผู้รับเหมาที่มีศักยภาพในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายของรัฐมากกว่าเน้นราคาถูก ลงโทษเอกชนทุกรายที่ไม่ซื่อสัตย์ ทำให้รัฐเสียหาย ฯลฯ

2.เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าเดิม เริ่มจากการใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” อย่างเข้มข้น จริงจัง และ 3.ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม ตรวจสอบ เช่น ระบบ GPS และ Ai เป็นต้น

อ่านข่าว : เทรนด์เลี้ยงสัตว์ยังโต จาก เลี้ยงแบบสมาชิกในครอบครัว - สู่ช่วยสร้างรายได้

"ศิริกัญญา" เรียกร้องรัฐบาลสื่อสารให้ชัด ปมเลื่อนนัดเจรจาภาษีทรัมป์

ชู “4 จตุรเทพ” ว่อนโซเชียล มั่นใจสกัด “กาสิโน” อยู่หมัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง