ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คาดเขื่อนหลักลดปล่อยน้ำเหลือ 18 ล้าน ลบ.ม.-กปภ.เผย 9 จ.เสี่ยงน้ำดิบไม่พอผลิตประปา

สังคม
14 ก.ค. 58
05:58
152
Logo Thai PBS
คาดเขื่อนหลักลดปล่อยน้ำเหลือ 18 ล้าน ลบ.ม.-กปภ.เผย 9 จ.เสี่ยงน้ำดิบไม่พอผลิตประปา

การประปาส่วนภูมิภาคเผย 9 จังหวัด ทั่วประเทศเสี่ยงปริมาณน้ำดิบไม่เพียงพอผลิตประปา ส่วน 4 เขื่อนหลักของประเทศอาจลดการปล่อยน้ำอีก 10 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อจัดสรรน้ำให้ใช้ได้ถึงเดือน ส.ค.-ต.ค. นี้ ด้านโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์วอนคนกรุงใช้น้ำประหยัดรับมือภัยแล้ง

วันนี้ (14 ก.ค. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าสถานกาณ์น้ำดิบใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควเขื่อนน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวม 588 ลบ.ม. และสามารถระบายน้ำได้วันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ คาดว่าวันนี้(14 ก.ค.2558) กรมชลประทานจะเสนอมาตรการบริหารจัดการน้ำ เช่น ขอความร่วมมือจากเกษตรกรไม่มให้สูบน้ำ หรือลดการส่งและระบายน้ำเหลือ 18 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2558 เป็นต้นไป เพื่อจัดสรรน้ำใช้ได้ถึงเดือน ส.ค.-ต.ค. 2558

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริหารจัดการน้ำเผยว่า มอบให้องค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงานท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย และกองทัพบก จัดแบ่งพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในการแจกจ่ายน้ำและวางแผนขุดบ่อบาดาล ส่วนน้ำสำหรับการเกษตรไม่อยู่ในแผน เพราะประกาศให้ชะลอการใช้ไปก่อนหน้านี้

ด้านนางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค เผยว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้งจนขาดแคลนน้ำดิบผลิตน้ำประปา 9 แห่ง แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ 1.หน่วยบริการผลิตน้ำประปาพื้นที่ อ.ปักธงชัย และ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา 2.อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ 3.อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี และ 4.จ.อำนาจเจริญ

ภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ 1.หน่วยบริการผลิตน้ำประปาพื้นที่ อ.วิเชียรบุรี จ.พชรบูรณ์ 2.อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ และ 3.จ.จังหวัดพะเยา ภาคใต้ ได้แก่ เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนภาคกลาง ได้แก่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่ากังวลที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลายน้ำอยู่ใกล้เมืองหลวงและมีผู้ใช้น้ำประปาจำนวนมาก จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถึงการบริหารจัดการน้ำในขณะนี้ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (14 ก.ค. 2558) จะหารือเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกคนร่วมกันประหยัดน้ำ โดยเฉพาะชาว กทม.

ขณะที่ นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เขตประกอบการอุตสาหกรรมที่กรมโรงงานดูแลอยู่ทั้ง 25 แห่ง ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากฝนยังไม่ตกลงมาช่วง 30-40 วันนับจากนี้ ผู้ประกอบการจะเริ่มเข้าสู่แผนรับมือภัยแล้งระดับที่ 2 คือการประหยัดการใช้น้ำและลดเวลาการทำงาน จากนั้นก็จะเข้าสู่ระดับ 3 คือนำน้ำสำรองมาใช้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง