ยานนิวฮอไรซันส์ของนาซ่าเตรียมสำรวจดาวพลูโตใกล้ชิด หลังเดินทางนานเกือบ 10 ปี
วงการดาราศาสตร์ในวันนี้ (14 ก.ค.2558) มีเรื่องน่าตื่นเต้นให้ติดตาม เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ยานนิวฮอไรซันส์จากองค์การนาซ่า จะเดินทางเข้าใกล้ดาวพลูโตมากที่สุด โดยคาดว่าจะเข้าใกล้ระยะทางกว่า 12,500 กิโลเมตรในเวลา 19.00 น. ของวันนี้ เพื่อสำรวจสภาพทางธรณีวิทยา และจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษากำเนิดของระบบสุริยะมากขึ้น
ยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ จะทะยานขึ้นเฉียดดาวพลูโตในระยะใกล้ที่สุด เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพและธรณีวิทยาของดาวเคราะห์แคระดวงนี้ที่ระยะห่างกว่า 12,500 กิโลเมตร ข้อมูลจากนาซ่าและสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยภาพถ่ายส่งโดยยานอวกาศเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา จากระยะห่างดาวพลูโต 5,400,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 3,300,000 ไมล์ สีที่ปรากฏบนดาวพลูโตนั้นเกิดจากโมเลกุลของไฮโดรคาร์บอน ผลจากรังสีคอสมิก และแสงอัลตราไวโอเลต ที่มาจากดวงอาทิตย์ทำปฏิกิริยากับแก๊สมีเทน ในชั้นบรรยากาศของดาวพลูโต เกิดโมเลกุลของไฮโดรคาร์บอนขึ้นและยังกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศและพื้นผิวของดาวพลูโตอีกด้วย
อลันสเติร์น หนึ่งในทีมงานการสำรวจ กล่าวว่า ลักษณะทางธรณีเช่นนี้้เป็นสิ่งน่าสนใจอย่างมากสำหรับการศึกษา เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งปัจจัยอะไรที่เป็นสาเหตุให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นได้ นับว่าการรอคอยเกือบ 10 ปี คุ้มค่ายิ่ง อาจช่วยให้เข้าใจดาวพลูโตได้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงของระบบสุริยะตลอดช่วงวิวัฒนาการ และต้นกำเนิดของโลกก็เป็นได้
สำหรับยานนิวฮอไรซันส์ ขององค์การนาซ่าก้ได้เดินทางกลางอวกาศมาตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2549 หรือเกือบ 10 ปี เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวพลูโต และคารอน ซึ่งเป็นดวงจันทร์ของดาวพลูโตที่อยู่ห่างจากโลกกว่า 7,400 ล้านกิโลเมตร และวันนี้จะบรรลุเป้าหมายกับภารกิจสำรวจดาวพลูโตที่จะทะยานเข้าไปเฉียด ดาวพลูโตในค่ำวันนี้ คาดการณ์ว่าน่าจะใกล้สุดที่ 12,500 กิโลเมตร เวลา 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย
ข้อมูลจากนาซ่าและสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยภาพถ่ายเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2558 ลักษณะทางธรณีวิทยา จากภาพสามารถสังเกตร่องรอยและลักษณะที่แตกต่างกันของพื้นผิวดาวพลูโต เช่น ความมืดคล้ำเข้มที่ปรากฏให้เห็นในลักษณะรูปร่างต่างๆ รวมถึงลักษณะของพื้นผิวที่สว่างสดใสปรากฏในรูปแบบที่มีลักษณะคล้ายๆ กับ "หัวใจ"
สำหรับดาวพลูโตถูกค้นพบในปี พ.ศ.2473 และถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่สถานะการเป็นดาวเคราะห์เริ่มเป็นที่สงสัย และหลังจากปี 2548 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ลดดาวพลูโตให้เป็นกลุ่ม "ดาวเคราะห์แคระ" หรือเรียกง่ายๆ ว่า ถูกโหวตออกจากการเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เพราะคุณสมบัติหลายอย่างแตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ อีก 8 ดวง ที่ระบุคุณสมบัติดาวเคราะห์เอาไว้ คือ 1. มีเป็นวัตถุบนท้องฟ้าที่โคจรรอบดาวฤกษ์ แต่ตัวเองต้องไม่ใช่ดาวฤกษ์, 2. มีมวลมากพอที่จะมีแรงโน้มถ่วงดึงดูดตัวเอง และ 3. มีวงโคจรที่ชัดเจนและสอดคล้องกับดาวข้างเคียง แต่ยังมีนักดาราศาสตร์บางคนที่ยังคงจัดให้ดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์อยู่