ผู้เชี่ยวชาญชี้
ภายหลังการหารือระดับทวิภาคีกับรัฐมนตรีพลังงานของมาเลเซียระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ที่ประเทศบรูไน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาเลเซียเห็นด้วยกับนโยบายลอยตัวราคาพลังงานของไทย และมีแนวโน้มว่า จะขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมทุก ๆ 6 เดือน ในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จากราคาปัจจุบันที่ 1 ดอลลาร์ 70 เซนต์ ถึง 2 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาที่อุดหนุนมานาน ทำให้ต้องขาดเงินลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็ก และ ทำให้ประเทศอื่นเข้าซื้อก๊าซในราคาถูก ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมของไทยอยู่ที่ 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานมองว่า แนวโน้มการลอยตัวราคาพลังงานเป็นกระแสโลก ส่วนการอุดหนุนราคาจะมีแต่ผลเสีย ทั้งการสิ้นเปลืองพลังงาน ประชาชนไม่มีความตระหนักถึงการประหยัด และทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมถึงเป็นภาระงบประมาณที่ต้องอุดหนุนเพิ่มขึ้นทุกปี จากยอดการใช้ที่ขยายตัว แต่การเกิดขึ้นของเออีซีเป็นเพียงหนึ่งปัจจัยเร่งเท่านั้น หากรัฐบาลทำให้ราคาพลังงานในประเทศถูกกว่าราคาส่งออกอาจถูกกล่าวหาว่า ใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า และ เป็นปัญหาในการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ
ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ในอาเซียนอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่อุดหนุนราคาพลังงานมากที่สุด และใช้งบประมาณปีละ 300,00 -400,000 ล้านบาท ส่วนมาเลเซีย เป็นอันดับสอง แต่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานฟอสซิล ทำให้มีรายได้มาอุดหนุนราคาในประเทศต่างจากไทยที่อุดหนุนมากเป็นอันดับสาม ซึ่งเคยเป็นหนี้จากการชดเชยราคาน้ำมันช่วงปี 2547-2548 กว่า 92,000 ล้านบาท และ ลดภาษีสรรพสามิตเกือบ 80,000 ล้านบาท ในปี 2553 จนถึงปัจจุบัน