มองสังคมไทยผ่านหนังของผู้กำกับเกาหลี-อเมริกัน
ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่อง "พี่ชาย My Hero" ที่เล่าถึงชีวิตของเอก ผู้เป็นกำลังสำคัญในการหาเลี้ยงครอบครัว ถูกแขวนไว้กับความเสี่ยงในการจับใบดำใบแดงและอาจต้องเป็นทหารนานถึง 2 ปี แต่อีกด้านกลับมีคนใช้เงินและสายสัมพันธ์จนรอดพ้นการจับใบดำใบแดง เป็นผลงานภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของผู้กำกับเกาหลี-อเมริกัน "จอช คิม" ที่ดัดแปลง 2 เรื่องสั้น Draft Day และ At the caf? lovely ของนักเขียนชาวไทย-อเมริกัน รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ จนได้รับคำชมว่าเป็นหนังตีแผ่สังคมไทยที่ดีที่สุดในครึ่งปี 2558
สิ่งที่จุดประกายให้เกิดประเด็นนี้เป็นเพราะผู้กำกับเชื้อชาติเกาหลี สัญชาติอเมริกา สังเกตเห็นว่าวิธีการจับใบดำใบแดงของไทยเป็นระบบเดียวในโลกที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการเกณฑ์ทหารของประเทศเกาหลีและอเมริกาที่เขาคุ้นเคย เพราะที่เกาหลีกำหนดให้ผู้ชายทุกคนต้องเข้ารับใช้ชาติ ในขณะที่อเมริกาเกิดจากความสมัครใจ
"ระบบการคัดเลือกคนเข้ารับใช้ชาติของไทยมีความน่าสนใจตรงที่การจับฉลากเปรียบเหมือนการเสี่ยงโชค แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม เพราะคนส่วนใหญ่พากันหาวิธีเพราะไม่อยากชนะในเกมนี้" จอช คิม กล่าว
ความสนใจในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใสจากการใช้สินบนและเส้นสาย ทำให้ จอช คิม ใช้เวลานานถึง 3 ปีเพื่อศึกษาข้อมูล จนเป็นที่มาของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Draft Day หนังต้นแบบของ พี่ชาย My Hero ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสาวข้ามเพศที่ต้องเกณฑ์หทาร
อโนชา สุวิชากรพงศ์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ กล่าวว่า จอช คิม เป็นผู้ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งสังคมไทยมีเรื่องหรือปัญหามากมายที่ควรนำมาถ่ายทอดในภาพยนต์ แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนนำเสนอมุมมองหรือแง่มุมเหล่านี้ในสื่อภาพยนต์
หลังจากนี้ จอช คิม มีแผนที่จะทำภาพยนตร์สารคดีสะท้อนปัญหาของสังคมไทย โดยต้องการเสนอประเด็นที่มีความสดใหม่และน่าติดตาม ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลเพื่อให้ภาพยนตร์ส่งผลต่อผู้ชมและสังคมมากที่สุด