เหตุผลที่คนชอบฟังเพลงป๊อบเก่าๆ
สำหรับคนที่เติบโตมาในยุค 90s คงยากที่จะหลีกเลี่ยงเพลงของ Britney Spears เจ้าหญิงวงการเพลงป๊อบไปได้ เช่นเดียวกับอีกหลายๆเพลงในแนวป๊อบติดหูที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนส่วนใหญ่และมีการนำกลับมาเปิดฟังอยู่เสมอ แม้ว่าหลายคนจะอยู่ในวัยผู้ใหญ่และเขินอายที่จะยอมรับว่ายังแอบฟังเพลงเหล่านี้อยู่ก็ตาม
พฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติมนุษย์ โดย Dr.Victoria Williamson ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาดนตรีจากมหาวิทยาลัย Sheffield วิเคราะห์ว่า สื่อประเภทเสียงนั้นมีผลโดยตรงต่อความทรงจำของสมอง ดังนั้นไม่ว่าผู้ฟังจะเติบโตไปมีรสนิยมการฟังเพลงแบบใด เพลงโด่งดังในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีประสบการณ์ทางสังคมเป็นช่วงแรกจะยังคงให้ความรู้สึกพิเศษกว่าเพลงในช่วงอื่นของชีวิต
มนุษย์สร้างบทเพลงมาเพื่อเหตุผลทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพลงชาติ เพลงที่ร้องเวลาเล่นกีฬา ไปจนถึงเพลงระหว่างคู่รัก การฟังเพลงจึงทำให้เกิดความรู้สึกดีเมื่อได้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ขณะที่สมองจะบันทึกความทรงจำไปพร้อมกับทุกสัมผัส ดนตรีที่ได้ยิน ซึ่งส่วนใหญ่คือเพลงป๊อบที่ได้รับการเปิดมากตามสถานที่ที่วัยรุ่นไปรวมตัวกัน เช่นร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้า จะถูกผสมผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ณ ช่วงเวลานั้น ไม่ว่าผู้ฟังจะรู้ตัวหรือไม่
บ่อยครั้งที่บทเพลงเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกหวนคิดถึงวันวาน โดยไม่เกี่ยวกับเนื้อร้องและทำนองแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่เศร้าหรือสุข ดนตรีมีคุณภาพหรือไม่ แต่การกลับไปฟังบทเพลงเก่าที่ยังคงค้างอยู่ในความทรงจำจึงเป็นหนทางในการช่วยผ่อนคลายนั่นเอง
การฟังเพลงแล้วมีความสุขนั้นจะทำให้สมองหลั่งสารโดพามีนแบบเดียวกับที่ได้การรับประทานอาหารที่ถูกใจ หรือการตกหลุมรัก ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นเพลงแนวไหนหรือจะทำให้ดูดีหรือไม่ เพียงแค่ชอบและรู้สึกอยากฟังก็น่าจะเพียงพอ