กรมอุตุฯเตือนไทยเผชิญอิทธิพลพายุไต้ฝุ่นเนสาด พรุ่งนี้
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า พายุไต้ฝุ่นเนสาดได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้ประเทศไทยแล้ว โดยความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางของพายุไต้ฝุ่นเนสาดมีเร็วประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยขณะนี้อยู่ที่ตอนเหนือของเกาะไหหลำประเทศจีนแล้ว
ทั้งนี้ จากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า พายุไต้ฝุ่นเนสาดกำลังเริ่มส่งผลกระทบกับประเทศไทยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว นักวิชาการระบุว่า ในปัจจุบันพายุไต้ฝุ่นเนสาดมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 800 กิโลเมตร
กรมอุตุนิยมวิทยา และกลุ่มนักวิชาการด้านภัยพิบัติคาดการณ์ตรงกันว่า พายุลูกนี้จะเคลื่อนตัวต่อไปสู่อ่าวตังเกี๋ยในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ย.) และจากนั้นขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามประมาณวันที่ 1 ตุลาคม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ก็มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้หลายจังหวัดในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักด้วย
ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานนานาชาติสิรินธร ยังคาดการณ์ด้วยว่าพายุไต้ฝุ่นเนสาดจะเข้าสู่กรุงฮานอย ของประเทศเวียดนามโดยอิทธิพลของพายุจะส่งผลให้ประเทศไทยเกิดฝนตกหนักในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไปจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม
จังหวัดที่ควรเฝ้าระวังภัยจากฝนตกหนักในระยะ คือ ภาคเหนือ ที่จังหวัดน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และภาคอีสานตอนบน ที่จังหวัดเลย หนองคาย นครพนม สกลนคร และอุดรธานี โดยจังหวัดเชียงใหม่มีโอกาสถูกน้ำท่วมซ้ำได้อีกจากอิทธิพลของพายุลูกนี้ระหว่างวันที่ 1- 2 ตุลาคม
ส่วนพายุไต้ฝุ่นอีกลูกที่เสี่ยงจะพัดเข้าสู่ประเทศไทยคือ พายุไต้ฝุ่นนาลแก ซึ่งศูนย์เตือนพายุไต้ฝุ่นร่วมของสหรัฐ คาดว่าจะมุ่งหน้าเข้าสู่ประเทศฟิลิปปินส์ และลงสู่ทะเลจีนใต้เช่นเดียวกับพายุไต้ฝุ่นเนสาด ซึ่งผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรคาดว่าพายุลูกนี้อาจจะพัดเข้าสู่ประเทศไทย และส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันที่ 4 ตุลาคมนี้
ส่วนเขื่อนต่างๆ ในภาคเหนือในปัจจุบันกำลังเร่งระบายออกเพื่อรองรับน้ำจากพายุไต้ฝุ่นเนสาด โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ซึ่งจะเร่งระบายในวันนี้ไปจนถึงวันที่ 3 ตุลาคมนี้ ซึ่งในปัจจุบัน เขื่อนภูมิพล ที่จังหวัดตากมีน้ำมากถึงร้อยละ 92
ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ที่จังหวัดอุตรดิตถ์มีน้ำมากถึงร้อยละ 99 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนที่จังหวัดพิษณุโลกมีน้ำอยู่ที่ร้อยละ 93 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่จังหวัดลพบุรีมีน้ำมากถึงร้อยละ 135 ประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อยู่ท้ายเขื่อนทั้งหมดจึงควรเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด