กมธ.ยกร่าง รธน.ยืนยันตัดสิทธิ์การเมืองไม่ขัดหลักนิติธรรม
การพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะบุคคลต้องห้ามในการเป็น ส.ส., ส.ว., รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ที่ระบุถึงการตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิตกับบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม
กรณีนี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า เป็นการเพิ่มบทบัญญัติที่ไม่ขัดกับหลักนิติธรรม เพราะเป็นเพียงการคัดกรองคนที่ไม่เหมาะสมให้เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้นและการบัญญัติลักษณะต้องห้ามบางประการให้มีผลย้อนไปในอดีตไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น รัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2540 ในร่างรัฐธรรมนูญก็เคยมีบทบัญญัติไว้หลายประการ เช่น เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต, เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง, เคยถูกไล่ออกจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งหลายข้อกำหนดถือเป็นบุคคลต้องห้ามตลอดไปและที่ผ่านมาไม่เคยมีการคัดค้าน
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า กรณีดังกล่าวจะไม่มีผลใดๆ กับอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่เคยถูกตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี รวมถึงอดีตกรรมการบริหารอีกหลายพรรค กรณีการยุบพรรค ยกเว้นแต่บุคคลที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการยุบพรรคเท่านั้น
ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถอดถอน ต้องถูกตัดสิทธิ์การเมืองตลอด ไม่ใช่แค่ 5 ปีตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแยกการถอดถอนออกเป็น 2 กรณี คือตัดสิทธิ 5 ปี กับตลอดช่วง
พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นว่า ประเด็นตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งจะรวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการตัดสิทธิ์ที่รุนแรงเกินไป กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรบัญญัติว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องไม่กระทำการทุจริต ไม่ใช่บัญัติแบบมองย้อนอดีต ไม่ป้องกันปัจจุบัน
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า โดยหลักกฎหมายแล้ว กฎหมายที่เป็นโทษจะมีผลย้อนหลังไม่ได้ แตกต่างจากกฎหมายที่เป็นคุณที่สามารถให้ผลย้อนหลังได้ ดังนั้นหากออกกฎหมายมาในวันนี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนความคืบหน้าในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้(21 ก.ค.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะขอขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 30 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเปิดทางไว้ให้หรือไม่
ส่วนการประชุมพิจารณารายมาตรานอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 13-19 ก.ค.2558 การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่จบสมบูรณ์เพราะหมวดปฏิรูปและการสร้างความปรองดองต้องรอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีจำนวนทั้งหมดกี่มาตรายังไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้