ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถาม-ตอบ : รองอธิบดีกรมชลฯ พร้อมรับมือ "ฝนทิ้งช่วง" ปลายเดือนนี้

สังคม
20 ก.ค. 58
05:17
150
Logo Thai PBS
ถาม-ตอบ : รองอธิบดีกรมชลฯ พร้อมรับมือ "ฝนทิ้งช่วง" ปลายเดือนนี้

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสถานีโทรศัทน์ไทยพีบีเอสวันนี้ (20 ก.ค.2558) เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำหลังจากภาครัฐให้เกษตรกรงดการสูบน้ำเข้าพื้นที่นาเป็นเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค.2558 เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค มาตรการนี้ทำให้มีเสียงร้องเรียนจากในบางพื้นที่ที่ต้องการสูบน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูก เกษตรกรบางคนกล่าวว่า ไม่อาจทนดูข้าวที่กำลังตั้งท้องแห้งเหี่ยวตายได้และหากไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวตอนนี้ คงไม่สามารถทำนาได้อีก เพราะเมื่อถึงฤดูน้ำหลากมาไม่สามารถทำนาได้

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมีฝนตกในหลายพื้นที่ สถานการณ์น้ำในเขื่อนขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง
เขื่อนบางแห่งมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นพอสมควร เช่น เขื่อนภูมิพลมีน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 5.6 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.2558) และระบายออกที่  5 ล้าน ลบ.ม. สำหรับเขื่อนสิริกิต์ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าก็ค่อนข้างสม่ำเสมอแต่ยังไม่มากนัก คือ ประมาณวันละ 5-7 ล้าน ลบ.ม. แสดงว่าน้ำที่ไหลเข้ายังคงเป็นไปตามที่คาดหมายไว้อยู่ โชคดีที่สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกครอบคลุมทุกพื้นที่มากบ้างน้อยบ้าง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ท้ายเขื่อนภูมิพลหรือเขื่อนสิริกิต์ ปริมาณฝนค่อนข้างมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าประมาณน้ำมากทีเดียว มากพอที่จะทำให้ปริมาณน้ำเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นอย่างรวดเร็ว

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าหลังจากวันที่ 22 ก.ค.2558 ฝนจะทิ้งช่วงไปจนถึงเดือนสิงหาคม หากเป็นไปตามนั้นกรมชลประทานมีแผนรับมืออย่างไร โดยเฉพาะการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร
จากข้อมูลของกรมอุตุฯ ระยะที่ฝนทิ้งช่วงจะมีเพียงไม่กี่วันในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ต้นเดือนสิงหาคมฝนน่าจะมาปกติ ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมน้ำไว้ที่เขื่อนเจ้าพระยาเพื่อให้พื้นที่ตอนล่างได้ใช้ รวมทั้งการผลิตน้ำประปาและผลักน้ำเค็ม รวมทั้งช่วยเหลือเกษตรกรที่มีความเดือดร้อนจากการที่ข้าวยืนต้นตายตอนตั้งท้อง โดยการจัดสรรน้ำในแต่ละพื้นที่จะจัดลำดับตามความสำคัญของปัญหา เช่น พื้นที่ที่ข้าวตั้งท้องแต่ไม่มีน้ำก็จะพยายามลำเลียงไปให้ประมาณช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (21 ก.ค.) หรืออย่างช้าเช้าวันพุธ (22 ก.ค.)

มีหลักประกันหรือไม่ว่าน้ำจะส่งไปถึงพื้นที่นาที่ข้าวกำลังตั้งท้อง เพราะอาจมีการถูกสูบไปใช้ระหว่างทาง

เชื่อว่าควบคุมได้ เพราะได้กำชับกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานให้เจรจากับเกษตรกร แต่ถ้าพื้นที่ใดสุ่มเสี่ยงว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ก็จะแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดขอความร่วมมือและในบางกรณีอาจต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคงเพื่อจะให้น้ำไปสู่จุดหมายก่อน จะแก้ไขปัญหาจุดที่เกษตรกรเดือดร้อนเป็นอันดับต้นๆ ก่อน ถ้ามีน้ำเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ก็คงจะแจกจ่ายน้ำได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะน้ำในแม่น้ำลำคลองค่อนข้างมาก มั่นใจว่ามาตรการต่างๆ ที่วางไว้จะสอดรับกับปริมาณฝนตอนนี้และพอดีกับฝนที่จะตกในช่วงเดือนสิงหาคม

เดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ คิดว่าชาวนาพอจะทำนาปรังได้หรือไม่
ตอนนี้ยังไม่อยากพูดเรื่องของการทำนาปรัง แต่ว่าการประมาณการน้ำขึ้นอยู่กับฝนในระยะต่อไป ทางกรมชลฯ จับตาดูสถานการณ์ฝนอยู่อย่างใกล้ชิด
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง