ก.เกษตรฯ ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายภัยแล้ง
วันนี้ (20 ก.ค.2558) เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะลงพื้นที่สำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้งเป็นวันแรก และจะสำรวจต่อเนื่องไปอีก 1 เดือน เพื่อสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ จะพิจารณาแผนจัดการการบริหารน้ำอีกครั้ง เบื้องต้น นายกรัฐมนตรีสั่งการทุกหน่วยงานใช้น้ำอย่างประหยัด
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ว่า คณะรัฐมนตรีจะหารือวาระเร่งด่วนในการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยเปิดรับบริจาคน้ำดื่มจากประชาชนส่วนกลางส่งไปช่วยสมทบในจุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งจุดบริการน้ำทั่วประเทศ
นอกจากวาระการจัดหาน้ำดื่มจะมีการนำแผนบริหารจัดการน้ำที่ได้ดำเนินการไปแล้วหรือกำลังจะดำเนินการมาพิจารณา โดยอาจเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการด่วนพิเศษให้แจ้งต่อทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด โดยส่วนราชการต้องดำเนินการให้เป็นตัวอย่าง หากฝ่าฝืนอาจมีมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป
ส่วนภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก เช่น สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ หรือที่พักโรงแรม ขอให้ใช้น้ำในส่วนกักเก็บหรือสำรองของตนเองก่อนเป็นลำดับแรก ขณะที่เกษตรกร รัฐบาลยังคงขอความร่วมมืองดสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรโดยเด็ดขาด เพราะต้องสงวนน้ำไว้ผลักดันน้ำทะเลที่หนุนสูง เพราะอาจกระทบระบบผลิตน้ำประปา
สำหรับการพิจารณาปล่อยน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จะมีการพิจารณาการปล่อยน้ำให้พื้นที่แต่ละแห่ง โดยจะเปลี่ยนพื้นที่สลับกันจ่ายน้ำให้พออยู่ได้ 7-10 วัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในวันนี้ ส่วนเรื่องช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน
ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร โดยจะเริ่มสำรวจตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม เพื่อสรุปยอดรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรออกแบบศูนย์ช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อความรวดเร็วในการปรับปรุงพัฒนาผลผลิตและการช่วยเหลือ โดยนำโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ค ไลน์ และแอปพลิเคชันต่างๆ เข้ามาช่วยให้เกษตรกรเข้าไปแจ้งขอความช่วยเหลือด้วยตนเองได้สะดวกรวดเร็ว
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีทั้งการสร้างรายได้ทดแทน การส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย การทำไร่นาสวนผสม รวมถึงโครงการอื่นๆ ตามความต้องการของเกษตรกร ยังอยู่ระหว่างดำเนินการของกรมส่งเสริมการเกษตร