กรมชลฯเตรียมปล่อยน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรวันพรุ่งนี้
กรมชลประทานยืนยันว่าจะปล่อยน้ำให้ทำการเกษตรได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (22 ก.ค.2558) เป็นต้นไป หลังมีฝนตกหลายพื้นที่รวมทั้งมีน้ำเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้น แต่จะเรียงลำดับความสำคัญของพื้นที่ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติในวันที่ 23 ก.ค.นี้ เพื่อดูแลและวางมาตรการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำของประเทศ
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ผลจากการประกาศลดการระบายน้ำเหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และปิดสถานีสูบน้ำ 335 สถานี มาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 13.82 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 13.2 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยที่ประชุมจึงเห็นชอบที่จะมีมาตรการผ่อนปรนการส่งน้ำที่เหลือให้กับเกษตรกรเรียงตามลำดับความสำคัญแต่ละพื้นที่ คือ 1.ข้าวที่อยู่ในช่วงตั้งท้อง หรืออายุการเพาะปลูกตั้งแต่ 9 สัปดาห์ขึ้นไป 2. ไม้ผลและกล้วยไม้ 3.ข้าวที่มีอายุระหว่าง 7-8 สัปดาห์ 4.ข้าวที่มีอายุระหว่าง 5-6 สัปดาห์ และ 5.ข้าวที่อายุต่ำกว่า 4 สัปดาห์
ทั้งนี้ ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เกษตรในแต่ละพื้นที่และผู้ว่าราชการจังหวัดลงพื้นที่สำรวจเพื่อเก็บข้อมูลการเพาะปลูกจริง เพื่อส่งให้กรมชลประทานนำมาประมวลสรุปว่าจะผ่อนปรนการระบายน้ำให้พื้นที่ใดบ้าง และตั้งแต่วันพรุ่งนี้ เป็นต้นไป จะเริ่มระบายน้ำเข้าพื้นที่เป้าหมาย อย่างไรก็ตาม น้ำที่เพิ่มขึ้นถือว่ายังปริมาณน้อย คงไม่เพียงพอที่จะทำนาได้ทั่วถึง 7.5 ล้านไร่
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวถึง การประชุม กนช. ที่นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมในวันที่ 23 ก.ค.นี้ว่า เพื่อวางมาตรการน้ำของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำปี 2559-2567 ส่วนเรื่องมาตรการประหยัดน้ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องเร่งทำทันทีเพื่อให้เท่าเทียมกันระหว่างคนเมืองและภาคเกษตร เพราะที่ผ่านมาห้ามส่งน้ำให้พื้นที่ปลูกข้าวแล้ว ซึ่งการประหยัดน้ำควรเริ่มที่หน่วยงานราชการเป็นตัวอย่างก่อน ส่วนภาคครัวเรือนและธุรกิจอาจนำเอาแบบไต้หวันมาใช้ เพราะมีกฎหมายคุมเข้มและถ้าใครใช้น้ำมากต้องจ่ายค่าน้ำแพง