ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วสท.ชี้ "สำรวจไม่ครอบคลุม" ปัจจัยหลักถนนริมคลองทรุด

สังคม
21 ก.ค. 58
08:07
297
Logo Thai PBS
วสท.ชี้ "สำรวจไม่ครอบคลุม" ปัจจัยหลักถนนริมคลองทรุด

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเสนอให้สำรวจพื้นที่ก่อนก่อสร้างถนนเลียบคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่ดินอ่อน เสี่ยงทรุดตัวได้ง่าย ขณะที่ถนนเลียบคลอง 13 ในจังหวัดปทุมธานี จากการตรวจสอบของกรมทางหลวงชนบทพบว่าทรุดตัวแล้ว 44 จุด ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจชั้นดินก่อนดำเนินการซ่อมแซม

กฤชเทพ สิมลี รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบทสำรวจชั้นดิน บริเวณถนนเลียบคลอง 13 ฝั่งตะวันออก ต.บึงคอไห อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ที่ทรุดตัวระยะทางยาวกว่า 100 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา

"เรามาทำถนนเพิ่มบนแนวคันดินริมคลอง 13 ซึ่งมีความหนา 1-1.20 เมตร ดังนั้นน้ำหนักที่กดดับลงบนคันดินของคันดินเดิมของชลประทานมีมาก ประกอบกับบริเวณใกล้เคียงมีคลอง ทำให้จุดที่ถนนทรุดเป็นจุดที่อ่อนที่สุด" นายกฤชเทพกล่าว
 
คลอง 13 มีความยาวกว่า 100 กิโลเมตร ที่ผ่านมาพบว่าถนนเลียบคลองทั้งสองฝั่งทรุดรวม 44 จุด โดยอยู่ในฝั่งแนวคันกั้นน้ำท่วมที่สร้างขึ้นหลังปี 2554 กว่า 20 จุด กรมทางหลวงชนบทระบุสาเหตุหลักเกิดจากภาวะภัยแล้ง

ปกติระดับในคลองปริมาณมากจะมีแรงดันพยุงตลิ่งไม่ให้ทรุดตัวแต่เมื่อระดับน้ำในคลองแห้งขอด ทำให้ขาดแรงดันจากน้ำ ลาดตลิ่งจึงเกิดการทรุดตัว และทำให้ถนนเลียบคลองเสียหาย ขณะเดียวกันหากปริมาณน้ำในคลองน้อยอยู่แล้วแต่มีฝนตกลงมาเพิ่มก็จะส่งผลให้ตลิ่งทรุดตัวได้เช่นกัน

การสำรวจของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพีและฐานรากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอุปนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย พบว่า จุดที่ถนนเลียบคลองทรุดตัวส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ดินอ่อน เมื่อระดับน้ำต่ำ และได้รับแรงสั่นสะเทือนจากรถที่สัญจรผ่าน จึงทำให้เกิดการทรุดตัวได้ง่าย จึงเสนอให้มีการสำรวจชั้นดินอย่างละเอียดก่อนก่อสร้างถนน
 
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อุปนายกวิศวกรรมสถานฯ กล่าวว่าการสำรวจที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นการสำรวจแบบสุ่มตามระยะ ถึงแม้ว่าในระหว่างก่อสร้าง ผู้รับจ้างจะเจาะเพื่อตรวจสอบได้อีกครั้ง แต่ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอ

"ปัจจัยหลัก (ที่ทำให้ถนนทรุดตัว) อย่างหนึ่งก็คือ การสำรวจที่ไม่ครอบคลุม ทำให้โอกาสที่ถนนจะพังมีสูง" รศ.สุทธิศักดิ์แสดงความเห็น

ข้อมูลจากกรมทางหลวงชนบทถนนเลียบคลอง 13 ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ถูกก่อสร้างยกระดับเป็นคันป้องกันน้ำท่วม ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ซึ่งโครงการเร่งด่วนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท บางส่วนเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง