นายบุญลือ เจริญมี นักข่าวพลเมือง จาก ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ ต.คลองโยง ว่า คืน 3 ตุลาคม สถานการณ์น้ำท่วมเข้าขั้นวิกฤตไม่สามารถระบายน้ำในคลองโยงได้ทัน เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาประมาณหนึ่งชั่วโมง มารวมกับปริมาณน้ำในคลองโยงที่ถูกระบายน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อออกสู่แม่น้ำท่าจีนนั้น มีปริมาณน้ำที่สูงขึ้นมาก ทำให้คั้นกั้นตรงสหกรณ์คลองโยงแตก จนน้ำไหลทะลักเข้ามาในทุ่งนาข้าว สูงถึง 2 เมตร จากพื้นที่นาทั่วๆไป และคันกั้นน้ำที่เราทำไว้สองเมตรบางพื้นที่จมแล้ว
นายบุญลือ กล่าวถึงเส้นทางน้ำ จ.นครปฐมว่า น้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ และคลองโยง ไหลมาจากน้ำทางจ.นนทบุรี กับจ.กรุงเทพฯ เพื่อไหลระบายลงสู่แม่น้ำท่าจีน และน้ำจากส่วนบนน่าจะมาจากคลองพระพิมล จะลงมาจากคลองเล็กต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมาตามแม่น้ำ แต่สามารถเข้ามาจากคลองญี่ปุ่น คลองปัญญาบุญลือก็สามารถเชื่อมต่อมาเรื่อยๆ สุดท้ายมาลงคลองทวีวัฒนาเส้นหลักใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าปริมาณน้ำตอนนี้น่าจะมาตามคลองเล็กมากกว่า ซึ่งเมื่อคืนเจอกับน้ำฝนที่ตกลงมา ถ้าน้ำมันไหลอยู่แล้วเราก็สามารถที่จะรับมันไว้ได้ หรือไหลมาจากด้านบนพอรับไหว แต่พอมีปริมาณน้ำที่ตกลงมาด้วยเราไม่สามารถรับมือได้ทัน
หากเป็นสมัยเก่าในพื้นที่ทุ่งนา เราสามารถระบายน้ำได้ แต่มีหลายปัจจัยผมมองในพื้นที่รอบๆ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดปทุมธานี บางบัวทอง ไทรน้อย ไทรใหญ่ บางเลน นครชัยศรี พุทธมณฑล น้ำในทุ่งนาจะไม่ค่อยมี ถ้าน้ำในทุ่งสามารถระบายน้ำในคลองส่วนต่างๆ ระบายน้ำในทุ่งนา สัก 20 เซนติเมตร หรือ 50 เซนติเมตร ก็พอบรรเทาสถานการณ์น้ำลงได้บาง แต่ตอนนี้เราบังคับน้ำให้อยู่ในเส้นทางคลองอย่างเดียว ถ้าน้ำมันมาแรงแล้วคันกั้นน้ำหักก็จะเกิดความเสียหายตามมา เช่น ต้นไม้ล้ม บ้านพัง
“มันถึงเวลาที่เราต้องยอมรับน้ำ ตอนนี้เรากำลังฝืนอยู่ เพราะว่าที่จริงจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ท่วมแทบทุกปีอยู่แล้ว แต่มาเกี่ยวพันธ์กับเรื่องของผลผลิต ซึ่งบางพื้นที่ 1 ปี ทำนาปี 2-3 ครั้ง แต่คลองโยงยอมว่า 2 ปี 5ครั้ง มันก็ขัดกับธรรมชาติแล้ว สมัยผมเด็กๆ ปีหนึ่งทำครั้งเดียว ดังนั้นหลักๆ คือการเน้นวิธีการรับน้ำ เราต้องยอมรับว่าน้ำมันต้องท่วมแน่นอน แต่ตอนนี้เราไม่ยอมรับให้น้ำท่วมทุ่งนา แต่หากปล่อยในน้ำท่วมทุ่งนาตามธรรมชาติ มันเกิดความสูญเสียก็จริง แต่ไม่น่าจะหนักขนาดนี้ นี้คือปัญหา” คุณบุญลือกล่าว