ศิลปะจากยีนส์ บันทึกเมืองกรุง โดย พงษ์สกุล ชาเหลา
ร่องรอยซีดจางของยีนส์เก่าเป็นเสน่ห์ที่ศิลปินหนุ่ม พงษ์สกุล ชาเหลา หยิบมาใช้ทำงานศิลปะ ปะติดภาพทิวทัศน์ชุมชนในกรุงเทพฯ ด้วยยีนส์ จนสมจริงเหมือนภาพระบายสี ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยความละเอียดไม่น้อย
ยีนส์ยิ่งเก่ายิ่งให้สีหลากหลาย ทั้งสีฟ้าซีดจากบริเวณที่เสียดสีบ่อย หรือน้ำเงินเข้มที่ซ่อนอยู่ในสุดของกระเป๋า ส่วนสีโทนแดงและเขียวหายากที่สุด กองกางเกงยีนส์มือ 2 นับ 100 ตัว คือวัตถุดิบสำคัญที่ศิลปินหนุ่ม พงษ์สกุล ชาเหลา สะสมไว้ทำงานศิลปะ การปะติดผ้ายีนส์เป็นภาพบ้านเก่าริมคลอง หรือชุมชนเมืองยามค่ำคืน ต้องใช้ยีนส์กว่า 10 ตัวในผลงานเดียวกัน เพราะความสมจริงขึ้นอยู่กับการเลือกสีผ้าให้ใกล้เคียงสีธรรมชาติมากที่สุด 4 ปีแล้วที่ใช้ยีนส์บันทึกทิวทัศน์ไทย ส่งให้ผลงานของ พงษ์สกุล เป็นที่นิยมของนักสะสมงานศิลป์ ความซีดจางของกางเกงยีนส์แต่ละตัวช่วยยังสื่อความหมายเชิงศิลปะ ถึงกาลเวลาที่ล่วงเลย
เริ่มต้นจากนำเสื้อผ้ายีนส์ของตัวเองมาสร้างงาน จนเมื่อขาดสีสันจึงต้องออกตระเวนหาผ้ายีนส์เพิ่มจากการบริจาคและตามตลาดนัด ซึ่งยังหยิบใช้ได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะขอบยางยืดที่นำมาประยุกต์ทำพื้นผิวหลังคา หรือแม้แต่ป้ายยี่ห้อภาษาอังกฤษ ยังตัดให้เล็กลงทำเป็นป้ายประกาศ อีกความหมายที่ติดมากับยีนส์ ยังแทนการรับวัฒนธรรมตะวันตก และทุนนิยม หลายปีที่ฝึกฝนเทคนิคการปะผ้าและใช้จักรจนคล่องมือ วันนี้ ศิลปะจากยีนส์ของศิลปินวัย 27 ปี พัฒนาจากงานคอลลาจแบนราบเป็นสามมิติ จนดูเหมือนงานเพ้นท์
มาติน เกอลิเยร์ ผู้จัดการ S Gallery ที่ศิลปินกำลังมีนิทรรศการเดี่ยว กล่าวว่า ศิลปะจากยีนส์น่าสนใจ เพราะทั้งร่วมสมัย และเป็นแนวประเพณี ความเป็นยีนส์ยังทำให้รู้สึกถึงกลิ่นอายตะวันตก ทั้งๆ ที่เป็นทิวทัศน์ไทยในย่านชานเมือง และย่านอุตสาหกรรม
อีกเหตุผลที่ พงษ์สกุล ชาเหลา เลือกยีนส์เป็นวัสดุ ยังเป็นเพราะผูกพันตั้งแต่เล็ก เพราะครอบครัวทำร้านตัดเย็บเสื้อผ้า การนำกางเกงยีนส์เป็นสื่อ มาเล่าความเป็นอยู่แบบไทย ยังเป็นการเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบันที่ยีนส์เป็นเครื่องกายยอดนิยม ศิลปินวัย 27 ปี กำลังมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 "Tangled up in blue" จัดแสดงที่ S gallery โรงแรมโซฟิเทล ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2558