ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปริมาณน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักมากขึ้น กรมชลฯยันไม่ต้องนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้

สังคม
24 ก.ค. 58
04:39
126
Logo Thai PBS
ปริมาณน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักมากขึ้น  กรมชลฯยันไม่ต้องนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้

ปริมาณภาพรวมน้ำไหลเข้าเขื่อนหลัก 4 แห่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาถือว่าดีขึ้น หลังช่วงที่ผ่านมามีฝนตกลงมา ขณะที่ร่องมรสุมในภาคเหนือของไทยยังเคลื่อนตัวขึ้นลง ทำให้มีฝนต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ส.ค.2558 แต่อาจไม่มากเท่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่กรมชลประทานยืนยันยังไม่มีความจำเป็นต้องนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้

วันนี้ (24 ก.ค.2558) นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยถึงการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า ปริมาณภาพรวมน้ำไหลเข้าเขื่อนหลัก 4 แห่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถือว่าดีขึ้น มีน้ำไหลเข้าเฉลี่ยวันละประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับการระบายน้ำทั้ง 4 เขื่อนวันละ 19 ล้านลูกบาศก์เมตรถือว่าขาดทุนน้อยลง ส่วนปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่านมากขึ้น จากเดิม 149 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเป็น 220 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แสดงว่าฝนดีขึ้นและชาวนาสูบน้ำเข้านาน้อยลง
 
สำหรับพื้นที่นาข้าวตั้งท้อง 1.2 ล้านไร่ ที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ขอปันน้ำจากกรมชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ปัจจุบัน กรมชลประทานได้ปันน้ำจากการส่งน้ำทั้งระบบวันละประมาณ 19 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้การเกษตรวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยส่งน้ำเข้าคลองต่างๆ ตามพื้นที่นาข้าวตั้งท้อง ซึ่งหากในอนาคตฝนไม่ตก ปริมาณน้ำน้อยลง ก็จะลดการปันน้ำเพื่อการเกษตรตามสัดส่วน แต่หากฝนตกเพิ่มขึ้น เกษตรกรก็จะใช้น้ำฝน และลดการขอปันน้ำไปเอง ส่วนแนวคิดการใช้น้ำก้นเขื่อนที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ศึกษาหาแหล่งน้ำนั้น ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปสูบน้ำก้นเขื่อน
 
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีผลกระทบต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตามได้แจ้งไปยังผู้ประกอบการต่างๆ ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงร้อยละ 5-10 รวมถึงให้ลดการใช้น้ำประปา และหันมาใช้น้ำบาดาลแทน เนื่องจากปัจจุบันในเขตวิกฤตน้ำบาดาล 7 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร มีปริมาณน้ำบาดาลที่สูบได้ประมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่มีการใช้จริงเพียง 2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้น จึงยังเหลือช่องว่าที่จะยังสูบน้ำบาดาลมาใช้ได้อีก ซึ่งจะช่วยให้มีน้ำประปาไปใช้อุปโภคและบริโภคสำหรับประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง