กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ฤาจะซ้ำรอยเดิม ?

8 ต.ค. 54
05:14
14
Logo Thai PBS
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ฤาจะซ้ำรอยเดิม ?

โดย จรุงพัฒน์ ใจวงศ์ผาบ โครงการปฏิบัติงานสื่อสารออนไลน์เพื่อส่งเสริมสิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2550

ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ ล้วนปลดปล่อยมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศแทบทั้งสิ้น ยิ่งกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ต้องพึ่งพาซากฟอสซิลอย่างถ่านหินด้วยแล้ว ยิ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามลพิษจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้านั้นร้ายแรงเพียงใด

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องดีที่สังคมจะมีกลไกในการเยียวยาและชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ ทว่ากว่าที่กลไกดังกล่าวจะออกมาในรูปของ “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” ดังที่กำลังมีการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ อยู่ในขณะนี้นั้น ภาคประชาชนโดยเฉพาะชาวแม่เมาะที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาตั้งแต่ปี 2535 ก็ต้องตั้งตาคอยและออกแรงผลักดันเรียกร้องมานานแสนนาน

คุณมะลิวัลย์ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวถึงที่มาของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้เรียกร้องให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ต่อมาคณะรัฐมนตรีในยุคที่คุณปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงมีมติจัดตั้งเป็น“กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า” ขึ้นทั่วประเทศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550 เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าทั้งหมดได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ดีคุณมะลิวัลย์ เห็นว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ในพื้นที่จังหวัดลำปางที่ผ่านมา ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเท่าใดนัก โดยส่วนใหญ่มีการนำงบประมาณไปใช้ในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์หลักของกองทุนฯ แต่อย่างใด เช่น การสร้างหลักกิโลเมตรขนาดใหญ่เพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ในขณะที่ผู้ป่วยจำนวนมากยังต้องออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยเงินส่วนตัว เป็นต้น

ทั้งนี้หากพิจารณาถึงอุปสรรคปัญหาในการดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการกองทุนฯ การใช้เงินกองทุนไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ การขาดกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีเพียงพอ ฯลฯ จะพบว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการดำเนินการจัดตั้งกองทุนฯ ที่มีเพียงมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีกฎหมายเฉพาะมารองรับ

ดังนั้นทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงได้ดำเนินการร่างระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 97(3) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 โดยมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน นักวิชาการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาทนายความ เอ็นจีโอ ฯลฯ ซึ่งข้อคิดเห็นที่ได้นำมาสู่การตกผลึกเป็น “ระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. ๒๕๕๓” ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554

โดยคุณเจตน์ อริยะสมบัติ ประธานชมรมเพื่อนสื่อสาธารณะจังหวัดลำปาง หนึ่งในคณะอนุกรรมการยกร่างระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า กล่าวว่า ระเบียบของกองทุนฉบับใหม่ พยายามวางกรอบอย่างรัดกุมเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์มากที่สุด เช่น การกำหนดให้สัดส่วนตัวแทนภาคประชาชนมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของคณะกรรมการทั้งหมด และต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในนิติกรรมสัญญาที่ทำกับกองทุนฯ

อีกทั้งยังมีการให้อำนาจคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) สำหรับการบริหารจัดการกองทุนประเภท ก (ขนาดใหญ่) ให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) เพื่อช่วยให้การดำเนินของงานกองทุนเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

รวมถึงได้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจ่ายเงินไปยังบัญชีที่กำกับดูแลโดย สกพ. โดยตรงทุกเดือน จากนั้นให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ทำแผนเสนอมายัง สกพ. ทาง สกพ. จึงเบิกจ่ายเงินมายังกองทุนฯ ทุกๆ 3 เดือน จากเดิมที่เคยให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ โดยตรง และให้คณะกรรมการฯ สามารถบริหารจัดการกองทุนได้โดยอิสระตามมติที่ประชุม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาบางประการ เช่น ความโปร่งใสในการบริหารเงินกองทุนฯ และการจ่ายเงินของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าล้าช้า เป็นต้น

นอกจากนี้ระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯ 2553 ยังมีกลไกในการตรวจสอบการบริหารงานของกองทุนฯ ทั้งการตรวจสอบจากภายใน (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) และการตรวจสอบจากภายนอก (องค์กรอิสระต่างๆ และภาคประชาชน) แต่เนื่องจากเงินกองทุนฯ มีงบประมาณมหาศาล คุณเจตน์จึงอยากฝากให้ภาคประชาชนให้ความสำคัญกับตัวแทนที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เป็นอย่างมาก

 “ประชาชนต้องเลือกคนที่มีจิตสาธารณะเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพราะระเบียบฯ นี้ นอกจากการบริหารกองทุนแล้ว ยังมีอำนาจทั้งการเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อสั่งปิดโรงไฟฟ้าได้อีกด้วย”

ทางด้านคุณกมล ปิ่นทอง ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานประจำเขต สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กพช. มีมติให้คณะกรรมการกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ายุติการอนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายเงินของกองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2553 เพื่อรอการสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าชุดใหม่ ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯ 2553 ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการภายในปี 2554

โดยแนวทางการเบิกจ่ายเงินของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามระเบียบใหม่นั้น หลังจากการสรรหา คพรฟ. เสร็จสิ้นแล้ว คพรฟ. จะต้องจัดทำโครงการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เสนอมายัง กกพ. และเมื่อโครงการดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจาก กกพ. แล้ว กกพ. จึงจะทำการโอนเงินไปยัง คพรฟ. เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าต่อไป

อย่างไรก็ดีแม้ว่าขณะนี้จะมีระเบียบของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ดูจะมีความรัดกุมยิ่งขึ้น แต่การบริหารงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ชุดใหม่ที่กำลังจะคลอดออกมานั้น ยังต้องรอการพิสูจน์ว่าจะสามารถบริหารจัดการกองทุนฯ ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์และความต้องการของประชาชนในพื้นรอบโรงไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด

และผู้ป่วยชาวแม่เมาะที่ยังคงรอคอยการเยียวยาอย่างเป็นธรรมจากโรงไฟฟ้ามานานเกือบสองทศวรรษ จะได้รับการเยียวยาหรือไม่ ฤาจะซ้ำรอยของอีกหลายชีวิตที่ต้องลาจากโลกใบนี้ไป โดยที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม้แต่บาทเดียว

กว่าจะเป็นกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

2544  - กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้เรียกร้องให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า

2546  - เครื่อข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้ กฟผ.จ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับ ผลกระทบทางสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็ได้เรียกร้องให้ภาครัฐจริงใจในการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า

2548  - กระทรวงพลังงานเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

 2550  - ครม.เห็นชอบแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ตามมติที่ประชุมของ กพช.

 2551  - มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จำนวน 72 กองทุนฯ

2552  - เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะเข้าร้องเรียนต่อ กกพ. ว่าการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

ก.พ. 2553 - คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ หมดวาระการดำรงตำแหน่งและ กพช.มีมติให้คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว รักษาการไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการฯ ชุดใหม่

15 ธ.ค. 2553 - กพช. มีมติให้คณะกรรมการฯ ยุติการอนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายเงินของกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจนกว่าจะมีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2553

20 ธ.ค. 2553 - ระเบียบว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกำกับการบริหารจัดการด้านการเงินของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา  

8 ก.พ. 2554  - ระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2553 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท รวมทั้งสิ้น 145 กองทุน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง