ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤตหนี้ยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ต่างประเทศ
8 ต.ค. 54
05:31
79
Logo Thai PBS
วิกฤตหนี้ยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

เป็นเวลานานกว่า 1 ปีครึ่ง ที่ผู้นำของประเทศสมาชิกยูโรโซนใช้ความพยายามในการแก้ไข และประคับประคองสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรป ที่มีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการที่ประเทศกรีซ ซึ่ง ณ เวลานี้ กำลังแบกรับระดับหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 160% ของจีดีพี

ดูเหมือนกับว่า กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) จะเป็นความหวังล่าสุดสำหรับจัดการกับวิกฤตหนี้สาธารณะที่ยืดเยื้อ ที่ทางการของประเทศสมาชิกยูโรโซนเตรียมจะนำมาใช้ภายในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2554 เพื่อสกัดและลดความเสี่ยงของการลุกลามของปัญหาไปยังประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ (นอกเหนือไปจากประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส) ควบคู่ไปกับเครื่องมือนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของพัฒนาการในด้านลบ-ด้านบวกของวิกฤตหนี้ยุโรปในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า เป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้การประเมินผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจมหภาคของไทยมีความไม่แน่นอนตามไปด้วย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทยภายใต้สถานการณ์ของวิกฤตหนี้ในยุโรปตามลำดับความรุนแรงของเหตุการณ์ เป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีวิกฤตจำกัดขอบเขต และกรณีวิกฤตลุกลามบานปลาย โดยกรณีสุดขั้วทั้ง 2 ด้าน จะให้ผลที่ค่อนข้างแตกต่างกัน
 
 โดยในกรณีที่ผลกระทบเชิงมหภาคของไทยจากกรณีวิกฤตหนี้ยุโรปมีขอบเขตที่จำกัดนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 2555 ยังคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงทิศทางการชะลอตัวได้ แต่น่าที่จะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวไว้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10.0

เศรษฐกิจไทยที่น่าจะได้แรงขับเคลื่อนเพิ่มเติมจากมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศและแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ก็อาจขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 4.5 ในกรณีที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดี หากพัฒนาการของวิกฤตหนี้ยุโรปไม่สามารถจำกัดวงไว้ได้ตามที่ทางการยุโรปคาดหวัง การส่งออกของไทยในปี 2555 อาจต้องเผชิญกับภาวะหดตัวร้อยละ 7.0

ขณะที่ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าที่จะต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.0 เท่านั้น แต่ทั้งนี้ ผลในท้ายที่สุดแล้ว คงต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสถานการณ์วิกฤตในระยะข้างหน้า ซึ่งยังคงมีโอกาสพลิกผันได้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงติดตามและประเมินสถานการณ์ในระยะข้างหน้าต่อไปอย่างใกล้ชิด
 
ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวะความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เป็นแกนสำคัญของโลกอย่างสหรัฐฯ และยุโรป น่าที่จะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย และไทยในปี 2555 ขยายตัวในอัตราที่อ่อนแรงลงตามไปด้วย

สำหรับในด้านของผู้ประกอบการของไทย คงต้องเตรียมศึกษาประสบการณ์จากภาวะวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเตรียมวางแนวทางและกลยุทธ์ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในปี 2555 ทั้งจากความผันผวนของตลาดการเงิน และความอ่อนไหวของสถานะคู่ค้า เพื่อให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นมรสุมไปได้อย่างราบรื่นที่สุด

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง