อุทกภัย 2554 ส่งผลต่อธุรกิจ "เอสเอ็มอี"

8 ต.ค. 54
06:29
10
Logo Thai PBS
อุทกภัย 2554 ส่งผลต่อธุรกิจ "เอสเอ็มอี"

สสว. คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ประสบอุทกภัยประมาณ 60,000 ราย

สำนักแผนยุทธศาสตร์และนโยบาย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีการศึกษาผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน ก่อให้เกิดภัยทางธรรมชาติบ่อยครั้ง และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ภาวะน้ำป่า ดินโคลนถล่ม และภาวะน้ำหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่ง สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคกลาง ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สิ่งสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย อีกทั้งพื้นที่การเกษตรและทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ดูได้จากข้อมูลของ ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่รายงานว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 559,895 ครัวเรือน หรือ 1,841,385 คน พื้นที่ประสบภัยทั้งสิ้น 23 จังหวัด   ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรีสระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และเชียงใหม รวมทั้งทำให้การคมนาคมเกิดความเสียหายไม่สามารถเดินทางได้หลายในพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือที่รถไฟไม่สามารถวิ่งได้ตั้งแต่จังหวัดลพบุรีขึ้นไป

ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ประสบอุทกภัยประมาณ 60,000 ราย

โดย SMEs ในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งในเรื่องของเครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมจนเสียหายจนไม่สามารถทำการผลิตสินค้าได้ รวมถึงเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ในการ การผลิตขาดแคลน และราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบทั้งหมดเป็นผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน

จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินความเสียหายในเบื้องต้นของเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ว่ามีแนวโน้มละขยายวงกว้างกว่าในปี 2553  โดยเฉพาะภาคการเกษตรกรรม และคาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปีหน้า

นอกจากอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปแล้วอีกอุตสาหกรรมที่คาดว่า SMEs จะได้รับผลกระทบ คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จากการประเมินสถานการณ์ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่าสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แม้ธุรกิจท่องเที่ยวจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไกลจากตัวเมือง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในตัวเมืองยังเที่ยวได้ปกติ (ยกเว้นจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในตัวเมืองค่อนข้าง รุนแรงพอสมควรโดยเฉพาะการประเมินความเสียหายของโรงแรม ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคิดเป็น มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยเฉพาะโรงแรมย่านไนท์บาซาร์ แต่เชื่อว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น)

แต่จะกระทบกับบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวกังวลกับสถานการณ์น้ำท่วม รวมทั้งหากสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลายจะกระทบต่อช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่ใกล้จะถึงโดยเฉพาะภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบ 15% ของแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่ง SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวจะขาดรายได้อย่างแน่นอน

นอกจาก SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมข้างต้นแล้ว SMEs ในธุรกิจบริการขนส่งและธุรกิจค้าปลีกก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมด้วยเช่นกัน เนื่องจากรถขนส่งสินค้าของ SMEs ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก และเส้นทางการขนส่งสินค้าเสียหายมาก ทำให้ไม่สามารถเข้าไปส่งและกระจายสินค้าในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้ ส่งผลถึงธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่ไม่มีสินค้าขายให้ผู้บริโภค รวมทั้งคำสั่งซื้อสินค้าลดลงเพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคหายไป ทำให้ยอดส่งสินค้าในพื้นที่ดังกล่าวลดลงด้วย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้จากการประกอบการ อย่างมาก

จากสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าวรัฐบาลได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) โดยอนุมัติวงเงินสินเชื่อจำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ SMEs ที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้ SMEs ใช้ปรับปรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟูกิจการ และ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย โดยเป็นเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 6 ปี ปลอดชำระเงินต้นใน 2 ปีแรก โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน หรือการค้ำประกัน และการตรวจสอบประวัติทางการเงิน มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 8 % ต่อปีตลอดสัญญา โดยรัฐบาลช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ 2 % ทุกปี ส่วนผู้ประกอบการจะจ่ายเพียง 6 % ต่อปี

นอกจากนี้ภาครัฐควรพิจารณาถึงมาตรการตรึงราคาสินค้าทางการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของผู้ประกอบการเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ SMEs หรือมีมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นและสร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นตลาดให้แก่ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น จัดกิจกรรมกระตุ้นท่องเที่ยวหลังน้ำลด การจัดมหกรรมขายสินค้าในท้องถิ่น เป็นต้น

ส่วนของ สสว. มีการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการของ SMEs ผ่านแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2555-2559) ภายใต้ยุทธศาสตร์สนับสนุนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ในกลยุทธ์สร้างภูมิคุ้มกัน ฟื้นฟู และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถแก้ไข ฟื้นฟู  และบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ในระยะเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือ SMEs นั้น สสว. อาจจะมีโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและ/หรือช่วยเหลือด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการหลังน้ำลด เพื่อให้ผู้ประกอบการมีรายได้และมีเงินกลับเข้ามาหมุนเวียนในธุรกิจ และเป็นการสร้างกำลังใจแก่ผู้ประกอบการ SMEs อีกทางหนึ่งด้วย.....เชื่อแน่ว่าโครงการต่างๆ ของภาครัฐ และของ สสว. จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้อีกครั้ง...
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง