กสทช.เสนอเปลี่ยนการเก็บค่าธรรมเนียมทีวีดิจิทัลจากอัตราคงที่เป็นอัตราก้าวหน้า
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า หลังการประมูลโทรทัศน์ระบบดิจิทัล 24 ช่อง ในช่วงปลายปี 2556 อายุใบอนุญาต 15 ปี ปัจจุบันผู้ประกอบการอยู่ในช่วงการลงทุนสูง ทั้งด้านเนื้อหาและการจ่ายค่าใบอนุญาตจากภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโฆษณาชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการหารายได้ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในขณะนี้ สำนักงาน กสทช. จึงเตรียมเสนอคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) พิจารณารูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีทีวีดิจิทัลใหม่ จากเดิมเป็นอัตราคงที่ไม่เกิน ร้อยละ 2 เป็นอัตราก้าวหน้า เช่นเดียวกับการจ่ายภาษีรายได้ ซึ่งจะเสนอให้จัดเก็บตั้งแต่ ร้อยละ 0.25-2 โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่ำจัดเก็บในอัตราต่ำและกลุ่มที่มีรายได้สูงจัดเก็บในอัตราสูง หากมาตรการดังกล่าวผ่านการพิจารณาจะเริ่มใช้จัดเก็บค่าธรรมเนียมทีวีดิจิทัล ในปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ กสทช. จะเสนอให้บอร์ด กสท.พิจารณาการบังคับใช้ประกาศ "มัสต์ แคร์รี" (Must-carry) ใหม่ จากปัจจุบันผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 24 ช่อง เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินค่าส่งสัญญาณดาวเทียมเพื่อออกอากาศทีวีดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มเคเบิลและดาวเทียม โดยมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 5 แสนบาทต่อช่องต่อเดือน หรือรวม 24 ช่อง มีต้นทุน 144 ล้านบาทต่อปี โดยจะเสนอให้แพลตฟอร์มเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายค่าส่งสัญญาณดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการนำช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศฟรี เพื่อให้บริการกับผู้ชม ข้อเสนอนี้จะช่วยในการลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งมีต้นทุนจากการเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณภาคพื้นดิน หรือ Mux อยู่แล้ว
ด้านนายเขมทัตต์ พลเดช อุปนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เสนอให้ กสทช.เร่งเดินหน้าแผนประชาสัมพันธ์การรับชมทีวีดิจิทัลโดยเร็วเพื่อขยายฐานผู้ชม รวมทั้งต้องการให้ กสทช.พิจารณาใช้งบประมาณกองทุนฯ สนับสนุนจัดทำระบบเรทติ้งทีวีใหม่ ที่จะเป็นฐานข้อมูลผู้ชมและการพัฒนาเนื้อหาทีวีดิจิทัล โดยต้องการให้สนับสนุนงบประมาณตั้งต้นปีแรกที่ต้องจ่ายให้บริษัทวิจัยราว 300-400 ล้านบาท
จากนั้นทีวีดิจิทัล แต่ละช่องต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อข้อมูลครบทุกแพลตฟอร์มการวัดเรทติ้ง ช่องละ 55 ล้านบาทต่อสัญญา 5 ปี หรือเฉลี่ยปีละกว่า 10 ล้านบาท