ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อุทกภัย 2554 ธุรกิจสะดุด ฉุดเศรษฐกิจไทย

19 ต.ค. 54
15:25
46
Logo Thai PBS
อุทกภัย 2554  ธุรกิจสะดุด ฉุดเศรษฐกิจไทย

เหตุการณ์อุทกภัยปีนี้ นับเป็นวิกฤตหนักครั้งหนึ่งที่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่เพียงสร้างความเดือดร้อนต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่ยังสร้างความเสียหายอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนต่อผลผลิตภาคเกษตร เขตเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมสำคัญหลายแห่ง นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วน  ซึ่งจะก่อให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply-chain disruption) ในหลายอุตสาหกรรมของไทย และอาจรวมไปถึงผู้ผลิตรายอื่นของอีกหลายประเทศ ล่าสุดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังไม่ยุติ ซึ่งนั่นหมายถึงขนาดของความเสียหายที่อาจมีมูลค่าสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้อยู่มาก   
ประเมินความเสียหายรายภาคธุรกิจ...ร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ 

วิกฤตน้ำท่วมที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้พื้นที่ในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นคาดว่าจะมากกว่า 1 แสนล้านบาท (นับรวมผลผลิตการเกษตรและอุตสาหกรรม โรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น แต่ยังไม่รวมความเสียหายของนิคมฯ นวนคร) พื้นที่ภาคเกษตรเสียหายครอบคลุม 67 จังหวัด ล่าสุดมีพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรง 36 จังหวัด และยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่น้ำทะลักเข้าท่วมโซนเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ ความเสียหายจึงร้ายแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ ดังนี้ 

ภาคเกษตร…ผลผลิตเสียหายรุนแรง: ล่าสุด (14 ต.ค.54) กระทรวงเกษตรฯ ประเมินความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวเสียหายมากเป็นประวัติการณ์ถึง 8.41 ล้านไร่ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวเสียหายไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตัน หรือกว่า 10% ของผลผลิตข้าวทั้งปี (ยังไม่รวมความเสียหายต่อสต็อกข้าวเปลือกที่อยู่ในโกดัง/ยุ้งฉาง) ส่วนภาคเกษตรอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหาย อาทิ อ้อยโรงงาน ผัก ผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลาน้ำจืด ไก่ และหมู เป็นต้น
ภาคอุตสาหกรรม…โรงงานจมน้ำ-ขาดวัตถุดิบ-เกิดปัญหา Supply-chain disruption:

อุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีกระทบหนักสุด  โดยเฉพาะโรงงานหลายแห่งในเขตนิคมอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกน้ำท่วมและเครื่องจักร/โรงงานเสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ และเป็นกิจการใน Supply Chain ที่น่ากังวลอย่างมาก คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ที่กว่า 80% กระจุกตัวอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ภาคกลาง (จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี กรุงเทพฯ(ลาดกระบัง)) ซึ่งเป็นไปได้ที่การผลิตของอุตสาหกรรมนี้จะสะดุดไปจนถึงไตรมาส 2 ของปีหน้า และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องถึงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ในหลายประเทศ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะ hard disk drive ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับสองของโลก มีส่วนแบ่งตลาดเกือบ 20% นอกจากนี้

อีกอุตสาหกรรมสำคัญที่ได้รับความเสียหาย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์หลายค่ายในไทยเกิดภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต (Supply-chain disruption) และกิจกรรมการผลิตยานยนต์จะสะดุดลงอีกครั้ง จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตรถยนต์ประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนนานกว่า 3 เดือนจากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น และเพิ่งจะสามารถกลับมาเดินเครื่องได้เต็มที่ในไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยังต้องจับตาอีกหลายนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นๆ ที่ยังไม่พ้นความเสี่ยงต่อความเสียหายจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้

ขาดแคลนวัตถุดิบ...กระทบอุตฯ เกษตรแปรรูป ผลจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จะทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง (แหล่งผลิตภาคเกษตรที่สำคัญของไทย และถูกกำหนดให้เป็นฐานอุตสาหกรรมผลิตอาหาร Ready to Cook / Ready to Eat ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค) กระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร/อาหาร เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและราคาพุ่งสูง

เส้นทางโลจิสติกส์ขาดตอน...โรงงานหยุดผลิตชั่วคราว ปัญหาน้ำท่วมทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่งสินค้า/วัตถุดิบ จนอาจทำให้หลายโรงงานจำเป็นต้องหยุดผลิตชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งมอบสินค้าและการส่งออกในระยะ 1-2 เดือนนี้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาศักยภาพของไทยในการเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับความแข็งแกร่งของหลายอุตสาหกรรมการผลิตในไทย ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวจากวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้น่าจะกินเวลาไม่นานนัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีคลัสเตอร์การผลิตที่เข้มแข็ง อีกทั้งฐานผลิตกว่า 80% ของอุตสาหกรรมนี้ตั้งอยู่ใน จ.ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีความได้เปรียบจากการเป็นแหล่งผลิตเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ และได้รับการยอมรับเป็น “ครัวของโลก” จึงคาดว่าการเร่งพลิกฟื้นพื้นที่เกษตรภายใต้การเข้าไปดูแลของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผนวกกับปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีมากจะทำให้เห็นการกลับมาเร่งผลิตได้ในไม่ช้า
 
ภาคบริการและการท่องเที่ยว...น้ำท่วมฉุดการท่องเที่ยวคนไทยวูบ: นอกเหนือจากความเสียหายต่ออาคารโรงแรมในพื้นที่น้ำท่วมรุนแรงซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ยังส่งผลฉุดรายได้ของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงวันหยุดปิดเทอม แต่คาดว่าจะเป็นปัญหาเพียงระยะสั้นๆ  ส่วนผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าไม่มากนัก แม้ในขณะนี้กว่า 20 ประเทศออกคำเตือนให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยง

การเดินทางมาไทยก็ตาม เนื่องจากน้ำท่วมไม่ได้เกิดในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ อีกทั้งรายได้การท่องเที่ยวจากภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ) ก็มีสัดส่วนเพียง 3-4% ของรายได้จากการท่องเที่ยวรวม และหากรวมจุดแข็งของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ความได้เปรียบของไทยในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุ้มค่าเงิน การบริการที่เป็นเอกลักษณ์ และการมีเที่ยวบินตรง (Charter Flight) สู่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวโดยรวมน่าจะยังโดดเด่นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วง High Season ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

มองผลกระทบภาคธุรกิจผ่าน Supply Chain ทั้งช่วงก่อนและหลังน้ำลด  จากการประเมินผลกระทบพิบัติภัยน้ำท่วมร้ายแรงในครั้งนี้ พบว่า ไม่เพียงเฉพาะธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นที่กล่าวข้างต้น ขอบเขตของความเสียหายยังขยายวงกว้างไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Supply Chain)
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง