วันนี้ (3 ส.ค.2558) พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามอาชญากรทางเศรษฐกิจ ระบุว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่มีการระบุโทษชัดเจน สำหรับพฤติกรรมความผิดการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ภาพของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต การนำผลงานของผู้อื่นโดยไม่ใส่เครดิต การแอบถ่ายภาพไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบุคคลสาธารณะแล้วนำมาเผยแพร่ ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ถ้าหากการแชร์ภาพดังกล่าวได้รับการอนุญาตและให้เครดิตภาพและผลงานที่นำมาแชร์ถือว่าไม่มีความผิด ทั้งนี้บทลงโทษผู้กระทำผิดมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท หากกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุก 3 เดือน-2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท
ด้านนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายลิขสิทธิ์ กล่าวถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ว่า เวลาจะเอาผลงานของใครมา ต้องเอาชื่อคนนั้นมาใส่ด้วย เช่น หากก๊อปปี้เนื้อหาบนหน้าเว็บ มาโพสต์ทาง เฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์เพื่อใช้ส่วนตัว และไม่แสวงหากำไรถือว่าไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มา แต่ถ้าในกรณีนิติบุคคลถือว่าทำไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเว็บไซต์ที่มีแบนเนอร์ หรือ เฟซบุ๊ก ที่มีกิจกรรมชิงโชคถือว่าผิดลิขสิทธิ์
ส่วนกรณีที่มีข้อความเผยแพร่ในโลกออนไลน์ให้ระวังการทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มักจะส่งภาพแทนความห่วงใยผ่านทางช่องทางไลน์ อาทิ ภาพ ดอกไม้ เนื่องจากในข้อความระบุว่า ภาพเหล่านั้นส่วนใหญ่มีลิขสิทธิ์ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงและทำให้เข้าใจผิด เพราะการส่งต่อข้อความในกลุ่มไลน์ ได้รับความคุ้มครองถือเป็นการใช้ส่วนตัว และไม่กระทบต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 32 วรรค 1 ของกฎหมายลิขสิทธิ์ตั้งแต่ฉบับเดิมแล้ว แต่หากมีการลบหรือแก้ไขตัวภาพ อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ เพราะถือเป็นการดัดแปลงงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
นอกจากนี้ยังแนะนำว่า หากต้องการส่งต่อภาพถ่ายดอกไม้หรือภาพถ่ายใด ๆ ของผู้อื่น ควรส่งภาพนั้นโดยไม่มีการดัดแปลง หรือพิมพ์ข้อความทับลงไปบนภาพ หากต้องการใส่ข้อความเช่น "อรุณสวัสดิ์" ควรใส่บนกรอบภาพแทน ส่วนคนที่จะใส่เพิ่มชื่อเจ้าของผลงานนั้นลงไป ถือว่ายิ่งดี ยิ่งได้รับการคุ้มครอง เพราะมีเจตนาไม่ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน
สำหรับพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 นี้ เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เว็บไซต์ต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ปลอดจากงานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ดึงให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต(ISP) เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตด้วย นอกเหนือจากความร่วมมือจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือ ผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น
กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl