สำนักพยากรณ์อากาศเมียนมา หวั่นฝนตกหนักซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วม
ยูเอ็นประเมินชาวเมียนมาได้รับผลกระทบกว่า 1.6 แสนคน
วันนี้ (3 ส.ค.2558) ชาวบ้านในเขตสะกายซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งยังคงใช้ชีวิตอย่างยากลำบากท่ามกลางระดับน้ำท่วมสูง ซึ่งในบางพื้นที่ระดับน้ำสูงท่วมถึงชั้นหนึ่งของตัวบ้าน ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่อย่างน้อย 27 คน ซึ่งสำนักงานขององค์การสหประชาชาติเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรม คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตน่าจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากอุทกภัยในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารโทรคมนาคมและเส้นทางถูกตัดขาด ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถประเมินความเสียหายในหลายพื้นที่ได้ โดยองค์การสหประชาชาติประเมินว่ามีชาวเมียนมาได้รับผลกระทบมากกว่า 156,000 คน
ในขณะที่ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาให้สัญญาว่ารัฐบาลจะใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อกระจายความช่วยเหลือไปให้ถึงมือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินใน 4 พื้นที่ ได้แก่ รัฐยะไข่ รัฐฉิ่น เขตมะเกวและเขตสะกาย โดยนอกจากน้ำท่วมแล้วยังมีรายงานว่าเกิดดินถล่มในรัฐฉิ่น ทำให้บ้านเรือนประมาณ 700 หลังได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีประชาชนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้
สำนักพยากรณ์อากาศเมียนมา หวั่นฝนตกหนักซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วม
สำนักพยากรณ์อากาศของเมียนมาแสดงความกังวลว่า อาจจะมีฝนตกหนักลงมาอีกซึ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมให้แย่ลงไปอีก ขณะที่กระทรวงปศุสัตว์ ประมงและการพัฒนาชนบท ประกาศว่าหากมีความจำเป็นทางกระทรวงจะร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติและองค์กรอื่น ๆ กระจายความช่วยเหลือให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนี้ ทั้งนี้ เมียนมากำลังจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่
ชาว จ.ตาก บริจาคสิ่งของช่วยเหลือชาวเมียนมา
ที่ จ.ตาก ประชาชนทยอยนำน้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้งไปบริจาค บริเวณศูนย์รับบริจาคสิ่งของ ศาลากลางจังหวัดตากและสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ในอำเภอแม่สอด เพื่อรวบรวมส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในรัฐกะเหรี่ยงและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งทางจังหวัดตากจะนำสิ่งของทั้งหมดไปบริจาคผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี ในวันที่ 5-6 ส.ค.นี้
ชาวเมียนมาทั้งในประเทศและที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยได้ส่งต่อภาพคลิปวิดีโอเหตุภัยพิบัติผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการร่วมบริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากเมียนมาแล้วยังมีอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ที่เผชิญกับอุทกภัยรุนแรงเช่นกันอย่างเช่นที่เวียดนามมีผู้เสียชีวิต 17 คน จากอุทกภัย นอกจากนี้ยังมีสารพิษรั่วไหลจากเหมืองถ่านหินในจังหวัดกว่างนิงห์ปะปนมากับกระแสน้ำและโคลนอีกด้วย
ชาวโรฮิงญาในยุโรปเรียกร้องอาเซียนช่วยโรฮิงญาในเมียนมา
สภาชาวโรฮิงญาแห่งยุโรปออกแถลงการณ์เรียกร้องไปถึงรัฐบาลเมียนมา ประชาคมโลก รวมถึงองค์การสหประชาชาติและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ให้ส่งความช่วยเหลือไปยังรัฐยะไข่ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และชาติสมาชิกอาเซียน เนื่องจากสภาชาวโรฮิงญาแห่งยุโรป ทราบข่าวว่ารัฐยะไข่เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งรัฐยะไข่มีประชากรเกือบ 3 ล้าน 2 แสนคน จำนวนนี้เป็นชาวโรฮิงญามากกว่า 140,000 คน
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่ามีชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่รัฐกีดกันไม่ให้เข้าไปอาศัยในศูนย์พักพิง ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยครั้งนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างแหล่งข่าวจากรัฐบาลเมียนมาว่ามีผู้เสียชีวิต 46 คน และมีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 2 แสนคน
ส่วนที่อินเดียฝนที่ตกหนักในฤดูมรสุมทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน โดยรัฐกุจราชเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุด เฉพาะรัฐนี้เพียงแห่งเดียวมียอดผู้เสียชีวิตสูงถึง 53 คน รองลงมา คือ เวสต์เบงกอลเสียชีวิต 42 คน ส่วนที่ปากีสถานมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 109 คน ประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 700,000 คนและที่เนปาลมีผู้เสียชีวิต 36 คนจากเหตุดินถล่ม