ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ฉุดส่งออกไทยไตรมาส 4 หดตัว 4.7%

เศรษฐกิจ
23 ต.ค. 54
14:07
15
Logo Thai PBS
น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม  ฉุดส่งออกไทยไตรมาส 4 หดตัว 4.7%

จากเหตุการณ์อุทกภัยที่น้ำเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งหมด 7 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี

ขณะที่พื้นที่อุตสาหกรรมในบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นนอก ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงเนื่องจากอยู่ในเส้นทางที่น้ำจะไหลผ่านออกสู่ทะเล ซึ่งเฉพาะเพียง 7 นิคมอุตสาหกรรมที่น้ำเข้าท่วมแล้วนั้น ต่างเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์และชิ้นส่วน ที่รวมแล้วมีสัดส่วนความสำคัญถึงร้อยละ 39 ของการส่งออกโดยรวมของประเทศ คาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 4/2554 และอาจมีผลต่อเนื่องไปถึงปีหน้าด้วย 

การส่งออกไตรมาสที่ 3/2554 ยังคงขยายตัวสูงร้อยละ 29.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) แต่มีสัญญาณชะลอตัวในเดือนกันยายน โดยการส่งออกในเดือนกันยายน 2554 ขยายตัวร้อยละ 19.1 (YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 31.1 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสินค้าสำคัญส่วนใหญ่มีการเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ทั้งกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.6 ขณะที่แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 7.2) สินค้าเกษตรและอาหาร (เช่น ข้าว หดตัวร้อยละ 6.1) และเสื้อผ้าสำเร็จรูป (หดตัวร้อยละ 5.8) นอกจากนี้ ยังมีผลมาจากการส่งออกทองคำที่ลดลง เนื่องจากราคาทองดิ่งลงอย่างหนัก หลังนักลงทุนในตลาดการเงินต่างประเทศมีการขายทองคำเพื่อชดเชยผลขาดทุนในตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ

ทั้งนี้ ก่อนหน้าเหตุการณ์อุทกภัยร้ายแรง ได้มีการคาดหมายอยู่ก่อนแล้วว่าการส่งออกของไทยอาจมีแนวโน้มชะลอชัดเจนนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2554 ไปจนถึงปี 2555 โดยมีสาเหตุจากปัญหาความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และวิกฤตหนี้ในยูโรโซน โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปมีปัญหา เนื่องจากมีการพึ่งพาตลาด 2 กลุ่มนี้รวมกันในระดับสูง เช่น เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น เมื่อมาเกิดปัญหาอุทกภัยเข้ามาอีกก็จะยิ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติมต่อการส่งออก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งอุตสาหกรรมส่งออกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และเลนซ์ ที่มีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ประสบภัยค่อนข้างสูง ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากยังมีการกระจายตัวของโรงงานในพื้นที่อื่น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ รองเท้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก โลหะและเครื่องจักร เป็นต้น

จากผลกระทบของอุทกภัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในกรณีพื้นฐาน การส่งออกในไตรมาสที่ 4/2554 อาจหดตัวร้อยละ 4.7 (YoY) โดยกรอบคาดการณ์อยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.2-9.1 (-9.1 ถึง -0.2) แต่จากการที่การส่งออกขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 25.5 ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ทำให้คาดว่าการส่งออกโดยรวมตลอดทั้งปี 2554 น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 16.7 และมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ15.5-17.9

โดยสรุป จากเหตุการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายแก่นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปแล้วถึง 7 แห่ง และยังมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบเพิ่มเติมในพื้นที่ที่เป็นทางผ่านของน้ำออกสู่ทะเล ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 4/2554 อาจหดตัวลงร้อยละ 4.7 ในกรณีพื้นฐาน โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.2-9.1 (-9.1 ถึง -0.2) ซึ่งนับเป็นการกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกนับจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 หลังฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก อันเป็นผลมาจากวิกฤต Subprime ในสหรัฐฯ ขณะที่ในช่วงเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นนั้น การส่งออกของไทยยังคงประคองตัวให้ขยายตัวในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง 
 
สำหรับภาพรวมตลอดทั้งปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 16.7 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ที่ร้อยละ15.5-17.9 ซึ่งการขยายตัวค่อนข้างสูงนี้เป็นผลมาจากการเติบโตสูงในช่วง 9 เดือนแรกในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 25.5 แต่ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวนับได้ว่าต่ำลงค่อนข้างมากจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 17.0-22.0 โดยประเมินว่า เหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงนี้อาจทำให้รายได้การส่งออกของไทยในปี 2554 นี้สูญเสียไปประมาณ 6,400-8,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 195,000-244,000 ล้านบาท 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง