ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The Down ภาพยนตร์เพื่อความเข้าใจผู้เป็นดาวน์ซินโดรม

Logo Thai PBS
The Down ภาพยนตร์เพื่อความเข้าใจผู้เป็นดาวน์ซินโดรม

จากคำถามที่ว่าผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรมจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้หรือไม่ นำไปสู่การค้นหาคำตอบผ่านการทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Down หวังเปิดมุมของเด็กพิเศษในสังคมไทย

ความไม่ไว้วางใจและภาพลบในสายตาของเพื่อนร่วมงาน คืออุปสรรคสำคัญในก้าวแรกของสุทธิพศ กนกนาค เด็กหนุ่มวัย 25 ปี ที่มีความฝันจะเก็บเงินสร้างบ้านให้ครอบครัว เช่นเดียวกับกมลพร วชิรมน ที่แม้จะมีดีกรีปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ ต้องพิสูจน์ตัวเองกว่าจะเป็นที่ยอมรับเพราะอาการดาวน์ซินโดรมที่ติดตัวมาแต่กำเนิด นี่เป็นส่วนหนึ่งในสารคดีเรื่อง The Down จากความคิดของคนทำหนังสือ "วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์" ที่อยากเปิดมุมให้คนในสังคมได้มองผู้มีอาการดาวน์ซินโดรมต่างไปจากเดิม โดยได้จิระ มะลิกุล ผู้กำกับรุ่นใหญ่เป็นที่ปรึกษา ใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 1 ปี เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเด็กพิเศษในสถาบันราชานุกูล

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ บอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมในสังคมไทย หนึ่งคือพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นห่วงลูก กลัวว่าลูกจะดูแลตัวเองไม่ได้ก็จะให้อยู่แต่ในบ้าน ข้อที่สองน่าเศร้ากว่านั้นคือพ่อแม่ผู้ปกครองจะอายที่มีลูกเป็นดาวน์ ผมก็เลยเกิดความคิดว่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจให้คนรอบข้างได้เข้าใจความจริงของคนเป็นดาวน์ซินโดรม

ด้านพิสุทธิ์ มหพันธ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ให้ความเห็นว่าสังคมไทยอาจจะยังไม่ก้าวหน้าเท่าต่างประเทศที่มีความคิดว่าสามารถพัฒนาบุคคลดาวน์ซินโดรมได้ อาจารย์หมอที่ทีมงานไปสัมภาษณ์บอกว่ายิ่งพัฒนา ยิ่งทำให้เขาเรียนรู้เท่าใด เขาจะยิ่งเก่งขึ้นเท่านั้น ยิ่งเราปล่อยให้เค้าไร้สมรรถภาพเขาจะยิ่งพัฒนาไม่ได้

แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากคลิปวิดีโอ Dear Future Mom ของ CoorDown องค์กรช่วยเหลือเด็กดาวน์ซินโดรมในประเทศอิตาลีที่สัมภาษณ์เด็กพิเศษ 15 คน จุดประกายให้วงศ์ทนง เห็นว่าถ้าได้รับโอกาสเด็กกลุ่มนี้ก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป และเป็นที่มาของการลงไปศึกษาข้อมูล ทั้งยังได้เห็นว่าความรักของแม่และการสนับสนุนของครอบครัวมีส่วนสำคัญไม่น้อยในการช่วยให้เด็กพิเศษใช้ชีวิตในสังคมได้

"เด็กดาวน์แต่ละคนกว่าจะมีวันนี้ของชีวิตได้ ได้เรียนหนังสือ ทำงาน ได้อยู่ในสังคมได้ ผมพบว่าพ่อแม่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคเยอะมาก ด้วยข้อจำกัดของลูก ด้วยอคติของสังคม ข้อจำกัดในเรื่องระเบียบสังคมของเราที่ไม่ได้เอื้อให้คนเป็นดาวน์ได้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย" วงศ์ทนง ทิ้งท้าย

ปัจจุบันอัตราการเกิดของเด็กดาวน์ซินโดรมมี 600-1,000 คนต่อปี ดังนั้นการทำความเข้าใจและให้โอกาสของคนในสังคมจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและเป็นกำลังสำคัญของสังคมต่อไปในอนาคต

กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง