กสทช.รับฟังความคิดเห็นประมูล 4 จี-สหภาพทีโอทีเตรียมยื่นระงับประมูล
วันนี้ (11 ส.ค.2558) กสทช.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 4 จี ย่าน 900 เมกะเฮิร์ซ โดยมีตัวแทนบริษัทด้านโทรคมนาคมที่สนใจเข้าร่วมประมูล 4 จี เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น
สำนักงาน กสทช.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 4 จี ย่าน 900 เมกะเฮิร์ซ ในวันนี้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.30 น. โดยมีตัวแทนผู้ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคมที่สนใจเข้าร่วมประมูล นักวิชาการ กลุ่มตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ด้วย ส่วนประเด็นที่จัดรับฟังความคิดเห็นประกอบไปด้วย ราคาเริ่มต้นการเคาะราคาประมูล, จำนวนขนาดของคลื่นความถี่, ความเหมาะสมของวิธีจัดการประมูล, เงื่อนไขกรณีมีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนชุดคลื่นความถี่ ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 11,260 ล้านบาท กรณีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาตเท่านั้น และราคาตั้งต้นที่ 16,080 ล้านบาท กรณีผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต
หนึ่งในบรรยากาศที่น่าติดตามวันนี้ คือการเดินทางมาร่วมสะท้อนความคิดเห็นของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที ที่ไม่เห็นด้วยการต่อนำคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซ ไปประมูล ซึ่งทีโอทีจะหมดสัมปทานในเดือน ก.ย.นี้ และเมื่อวานนี้ สหภาพฯ ทีโอที นัดประชุมร่วมกันเพื่อยืนยันการคัดค้านการประมูลครั้งนี้ โดยเห็นว่ายังมีสิทธิ์ในการถือครองคลื่นความถี่
หลังจากการรับฟังความเห็นวันนี้ สำนักงาน กสทช.จะจัดเวทีในต่างจังหวัด ซึ่งกำหนดไว้ที่ จ.ขอนแก่น ในวันที่ 31ส.ค.นี้ จากนั้นจะนำความเห็นทั้งหมด เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม และที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ของ กสทช.เพื่อพิจารณาว่าจะทบทวนประเด็นใดหรือไม่
ทั้งนี้่ ตามแผนงานแล้ว สำนักงาน กสทช.จะกำหนดคุณสมบัติ และเปิดให้ผู้สนใจยื่นซองร่วมประมูลในปลายเดือน ก.ย. และจะมีการกำหนดเงื่อนไขคุ้มครองผู้ประชาชนไว้ในเงื่อนไขการประมูลด้วย ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ กสทช.เห็นว่าจะสามารถบังคับเอกชนให้ทำตามเงื่อนไขเสนอราคา และคุณภาพสัญญาณ เพื่อเป็นหลักประกันต่อมิติการคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจนก่อนถึงวันแข่งขันเคาะราคาในเดือน พ.ย.นี้
สำหรับการประมูล 4 จี ที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้มีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตจากคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ขอให้ กสทช.ดำเนินการอย่างโปร่งใส รัฐได้ประโยชน์สูงสุด ต้องสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล รู้ต้นทุนผู้ประกอบการที่แท้จริง รวมทั้งให้นำปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งจัดประมูล 3 จี เมื่อปี 2556 มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก และที่สำคัญ คือการทำให้ผู้บริโภคไม่ถูกเอาเปรียบ