มศว เตือนชาวกรุง กั้นคอนกรีต อิฐบล็อก หน้าประตูบ้าน ระวังน้ำดัน เกิดน้ำพุกลางบ้าน
นายศุภชัย สินถาวร อาจารย์ประจำจากภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) เปิดเผยว่าภาวะวิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะเห็นปรากฏการณ์ด้วยการก่อคอนกรีต ก่ออิฐบล็อกฉาบไว้บริเวณประตูทางเข้าบ้าน บางบ้านก็กั้นสูงต่ำไม่เท่ากัน โดยเข้าใจกันว่าคอนกรีต อิฐบล็อกฉาบสามารถกันน้ำท่วมบ้านได้ โดยไม่มีความรู้ในเรื่องฐานราก นึกจะกั้นก็กั้น ซึ่งก็สามารถกั้นได้จริง แต่อยากให้ทุกคนที่ป้องกันน้ำท่วมบ้านด้วยการก่อคอนกรีต อิฐบล็อกฉาบให้ดูเสถียรภาพของคอนกรีตหรืออิฐบล็อกฉาบด้วย ซึ่งเสถียรภาพที่จะกั้นน้ำมีแค่ไหน ถ้ากั้นเพียง 1ฟุตแล้วกั้นบริเวณหน้าบ้านประตูทางเข้าก็พอจะกั้นได้
แต่ถ้าก่อคอนกรีตสูง 70 ซ.ม. 1 เมตร ยิ่งความสูงเพิ่มขึ้นต้องวิเคราะห์โครงสร้างด้วย เพราะยิ่งกั้นใกล้ประตูทางเข้าบ้านและน้ำท่วมเป็นสัปดาห์เป็นเดือน จะเริ่มมีปัญหาเพราะแรงดันน้ำจะดันพื้นภายในบ้านให้พังได้ เนื่องจากบ้านที่อยู่อาศัยในเมืองไทยโครงสร้างไม่ได้คำนวณฐานรากที่จะรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น เราคำนวณเพียงฐานรากเพียงแค่รับน้ำหนักคน น้ำหนักข้าวของในบ้าน แต่ถ้ามีแรงดันน้ำเข้ามาเพิ่มมันจะดันพื้นในบ้านให้ทะลุ และในบ้านจะกลายเป็นน้ำพุซึ่งจะเสียหายมากกว่าการปล่อยให้น้ำเข้าบ้าน
ดังนั้นจะก่อคอนกรีต ก่ออิฐบล็อกฉาบเพื่อกันน้ำท่วมต้องพิจารณาให้ดีด้วย ส่วนการกั้นคอนกรีต หรืออิฐบล็อกฉาบนั้นถ้ากั้นให้ห่างจากตัวบ้านมากเท่าไหร่หรือจะกั้นบริเวณประตูรั้วจะปลอดภัยกว่า แต่จะสิ้นเปลืองมากเพราะพื้นที่จะกว้างกว่าเส้นรอบวงจะมากกว่า ผู้คนจึงไม่นิยมแต่ไม่นึกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันแรงดันน้ำจะลดลงด้วย ถ้ากั้นบริเวณหลังรั้วได้จะดีกว่า อยากจะแนะนำให้ขุดร่องน้ำบริเวณสนามหญ้าเพื่อดูดน้ำออกด้วยพื้นที่สนามบริเวณบ้านจะไม่มีปัญหา