ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

น้ำท่วม 7 นิคมอุตสาหกรรม ... บทเรียนสำคัญผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจ
31 ต.ค. 54
15:59
60
Logo Thai PBS
น้ำท่วม 7 นิคมอุตสาหกรรม ... บทเรียนสำคัญผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

สถานการณ์น้ำท่วมที่ได้ลุกลามเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งนั้น จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ 5 แห่ง ซึ่งมีโรงงานประมาณ 570 โรงงาน ขณะที่ปทุมธานีมีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ซึ่งมีโรงงานประมาณ 270 โรงงาน ได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง

นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งนี้ มีโรงงานรวมกันประมาณ 840 โรงงาน มีการจ้างงานกว่า 430,000 คน และมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 406,800 ล้านบาท โดยนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งนี้ เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ อุทกภัยครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในหลายๆประเทศทั่วโลกเช่นกัน ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งในกลุ่มที่มีฐานการผลิตในประเทศ และที่กำลังมีแผนการที่จะขยายฐานการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย
 
 
ก่อนหน้าเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงนี้ ปี 2554 นับได้ว่าเป็นปีทองสำหรับผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งมียอดขายเติบโตสูง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น ที่โรงงานได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ได้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลของ บริษัท ซีบีริชาร์ด เอลลิส จำกัด ระบุว่า ปริมาณขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในครึ่งแรกของปี 2554 มีจำนวน 2,344 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ครึ่งแรกของปี 2553 มียอดขายพื้นที่ 1,174 ไร่)

 
แต่วิกฤติน้ำท่วมอย่างหนักในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งนี้ คงจะมีผลต่อการการเติบโตของยอดขายนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะยอดขายในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ให้ชะลอตัวลง อันเนื่องจากภาวะน้ำท่วมที่มีผลให้กิจกรรมการซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะชะลอตัวลงชั่วคราว ทำให้ภาพรวมยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2554 ชะลอลง โดยคาดว่า ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 4 ปี 2554 อาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 10.5 - 20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในปี 2553 ที่ผ่านมา) อย่างไรก็ดี ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ยังคงมีการเติบโตที่ดี ทั้งนี้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในปี 2554 มาอยู่ที่ประมาณ 4,550-5,015 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5-38.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 
สำหรับแนวโน้มปริมาณการขายที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมในปี 2555 คาดว่าในระหว่างที่นิคมอุตสาหกรรมที่ประสบภัยยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูบูรณะความเสียหายนั้น ธุรกรรมการทำสัญญาและการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อาจมีความล่าช้าออกไป ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมยอดขายที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรก ยังไม่สดใสนัก เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ที่เติบโตสูง แต่หลังจากเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ภาวะการซื้อขายที่ดินน่าจะกลับมาดีขึ้นซึ่งผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมต่างก็หาแนวทาง เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมค่อนข้างง่าย โดยใช้บทเรียนจากวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 เป็นต้นแบบในการพัฒนาแนวป้องกันน้ำท่วม
 
 
 นอกจากกลยุทธ์ในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนของผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมแต่ละรายแล้ว ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนยังต้องขึ้นอยู่กับแผนการจัดการของภาครัฐในการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนภายหลังน้ำลด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสนับสนุนการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม การช่วยเหลือผู้ประกอบการในการที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น รวมถึงแผนการดำเนินการการจัดการบริหารน้ำในระดับประเทศ เช่น การบริหารจัดการระบบคูคลอง ประตูน้ำ และที่สำคัญการบริหารน้ำในเขื่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้การจัดระบบการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารไปยังผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อลดโอกาสการเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่ได้ก่อให้ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงดังเช่นในปี 2554
 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง