ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เพลงโคราชกับการสร้างสรรค์ของ "กำปั่น บ้านแท่น"

Logo Thai PBS
เพลงโคราชกับการสร้างสรรค์ของ "กำปั่น บ้านแท่น"

ตั้งใจไว้ว่าจะสืบสานเพลงโคราชไว้ทั้งชีวิต ศิลปินกำปั่น บ้านแท่น จึงมีผลงานออกมาสม่ำเสมอ ได้ชื่อว่าเป็นคนแรกๆ ที่ประยุกต์เพลงโคราชซิ่งสู่ผู้ฟังยุคใหม่ ตลอดจนเล่นเพลงโคราชในท้องถิ่น ทำให้สุ้มเสียงสำเนียงพื้นบ้านมีความหมาย

เพราะไม่คิดเกษียณตัวเองจากการเล่นเพลงโคราช ค่ำคืนนี้ชาวบ้านหนองขาม ใน อ.พิมาย จึงได้ผ่อนคลายไปกับลีลาร้องกลอนของกำปั่น บ้านแท่นและคณะที่เฝ้าติดตามมานาน แม้ไม่มีดนตรีประกอบจังหวะ แต่เนื้อหาด้นสดและกลอนเพลงโคราช พาผู้ฟังเพลิดเพลิน ตลอด 5 ชั่วโมงของการขับกล่อมของพ่อเพลงแม่เพลง

เอกลักษณ์ภาษาพูดของคนโคราช ผสมผสานกึ่งภาษากลางและอีสาน มีนับพันคำ กับความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ทำให้สำนวน คำคู่ต่างๆ ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นกลอนเพลงโคราช ซึ่งส่วนใหญ่พ่อเพลงแม่เพลง แต่งเองเมื่อทำการแสดง เช่นที่คณะกำปั่น บ้านแท่น รวมสมาชิกไว้มากกว่า 20 คน หมุนเวียนแสดงในท้องถิ่น

นอกจากชมความงามของสาวเมืองโคราช เพลงสาวงาม 32 อำเภอ ยังรวมชื่ออำเภอในจังหวัดนครราชสีมาไว้ครบถ้วน และบอกถึงงานประจำปีย่าโม ที่ทุกปีมีการประกวดสาวงามเป็นสีสัน หรือแม้แต่เพลงโคราชวันละคำ เพลงโคราชด๊ะดาดของดี ที่คำว่าด๊ะดาดหมายถึงมากมาย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานเพลงลูกทุ่งภาษาโคราชของพ่อเพลง กำปั่น บ้านแท่น มีมากกว่า 500 เพลงที่แต่งไว้ รวมกับกลอนเพลงโคราชอีกไม่น้อยกว่า 20,000 บท ตลอด 36 ปี ที่อยู่ในวงการเพลงพื้นบ้านเต็มตัว นำเรื่องราวรอบตัวมาว่าเป็นกลอน

การสร้างสรรค์ทางภาษาไม่หยุดนิ่ง นำไปสู่เพลงโคราชซิ่งที่ขยับจังหวะเร็วขึ้น พร้อมดนตรีสนุกๆ บุกเบิกเพลงโคราชแนวใหม่ในเวลานั้น เพื่อให้เพลงของคนโคราชเป็นที่นิยมในหมู่นักฟังกว้างขึ้น

กำปั่น บ้านแท่น มีผลงานเพลงรวมอัลบั้มมาแล้ว 13 อัลบั้ม นับจากสร้างชื่อกับวงในปี 2539 ไม่นับรวมอัลบั้มเพลงในโอกาสพิเศษต่างๆ ล้วนแล้วแต่สะท้อนปรากฎการณ์ทางสังคมและภาษาโคราช ด้วยสำนวนกลอนของตนทั้งหมด และเปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์เพลงเล็กๆ ใช้เพลงพื้นบ้านเป็นสื่อเรียนรู้ การทำงานต่อเนื่องนำความชุ่มชื่นใจมาสู่ศิลปินวัย 63 ปี ด้วยความภาคภูมิในภาษาแม่ และบทเพลงที่มีเอกลักษณ์

เนื้อหาของเพลงและการเล่นคำทำให้เพลงโคราชฟังสนุก มีความหมาย เป็นเหมือนบันทึกภาษาถิ่นที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งในทุกๆ ครั้งที่ได้ทำการแสดงหรือถ่ายทอดความรู้ออกไป คือความภูมิใจของพ่อเพลงแม่เพลง ที่มีส่วนสำคัญในการรักษามรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมนี้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง